สรรพสามิต เลื่อนขึ้นภาษีน้ำตาล ออกไปอีก 1 ปี

26 พ.ค. 2564 | 03:12 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ค. 2564 | 10:26 น.

สรรพสามิต ขยายระยะเวลาปรับขึ้นอัตราภาษีตามปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม ระยะที่ 3 ออกไปอีก 1 ปี เป็น 1 ตุลาคม 2565

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตได้ออกมาตรการขยายระยะเวลาบังคับใช้ อัตราภาษีตามปริมาณน้ำตาล ระยะที่ 3 ซึ่งจะบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ออกไปอีก 1 ปี เป็นวันที่ 1 ตุลาคม 2565 เพื่อไม่ทำให้ผู้บริโภคมีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากราคาเครื่องดื่มที่ปรับตัวสูงขึ้น และเป็นการช่วยฟื้นฟูเยียวยาผู้ประกอบอุตสาหกรรมเครื่องดื่มจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

 

โดยกรมสรรพามิต ได้เริ่มจัดเก็บ ภาษีตามปริมาณน้ำตาล ในสินค้าเครื่องดื่ม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมมีการปรับสูตรลดปริมาณน้ำตาลเพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชาชนมาโดยตลอด และปัจจุบันกำลังจะเข้าสู่ระยะที่ 3 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ซึ่งจะมีการปรับเพิ่มอัตราภาษี ทำให้เครื่องดื่มส่วนใหญ่ที่ปัจจุบันมีปริมาณน้ำตาล 10 กรัม ถึง 14 กรัม เสียภาษีตามปริมาณน้ำตาลเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ส่งผลให้เครื่องดื่มปรับราคาสูงขึ้น  10%

 

ลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต

ทั้งนี้การชะลอปรับขึ้นภาษีความหวานครั้งนี้ จะทำให้อัตรา ภาษีความหวาน ที่ผสมเครื่องดื่ม ซึ่งจะใช้วันที่ 1ตุลาคม 2564 -  30 กันยายน 2565  ยังคงใช้อัตราเดิมเท่ากับปีนี้ ได้แก่ เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลไม่เกิน 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ได้รับยกเว้นเก็บภาษี ส่วนเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล 6-8 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร จะเสียภาษีที่ 0.10 บาทต่อลิตร เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล 8-10 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร จะเสียภาษีที่ 0.30 บาทต่อลิตร  เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล 10-14 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร จะเสียภาษีที่ 1 บาทต่อลิตร เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล 14-18 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร จะเสียภาษีที่ 3 บาทต่อลิตร  ขณะที่เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกิน 18 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร จะเสียภาษี 5 บาทต่อลิตร 

 

สำหรับอัตราภาษีความหวานระยะ 3 ซึ่งเริ่มใช้ 1 ตุลาคม 2565 - 30 กันยายน 2567 มีดังนี้ เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลไม่เกิน 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ได้รับยกเว้นเก็บภาษี ส่วนเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล 6-8 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร จะเสียภาษีเพิ่มเป็น 0.30 บาทต่อลิตร เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล 8-10 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร จะเสียภาษีที่ 1 บาทต่อลิตร  เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล 10-14 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร จะเสียภาษีที่ 3 บาทต่อลิตร เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกิน 14 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร จะเสียภาษีที่ 5 บาทต่อลิตร  

 

ส่วนอัตราภาษีระยะ 4 ซึ่งจะเริ่มใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป มีดังนี้ เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลไม่เกิน 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ได้รับยกเว้นเก็บภาษี ส่วนเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล 6-8 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร จะเสียภาษีเพิ่มเป็น 1 บาทต่อลิตร เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล 8-10 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร จะเสียภาษีที่ 3 บาทต่อลิตร  เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกิน 10-14 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร จะเสียภาษี 5 บาทต่อลิตร