ราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 26 พฤษภาคม ได้ลงประกาศพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 พ.ศ. เพิ่มเติม วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งปรับลดวงเงินจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้ไม่เกิน 7 แสนล้านบาท แต่ก็ถือว่า เป็นวงเงินกู้ที่สูง เพราะยังมีวงเงินที่รัฐบาลต้องกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณีป 2565 อีก 7 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณา อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง เพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤติ (Liquidity Coverage Ratio: LCR) อยู่ที่ 186.54% สะท้อนยอดคงค้างสินทรัพย์สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในระดับสูงถึง 5.06 ล้านล้านบาท (ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564) ขณะที่ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ (ไม่รวมอินเตอร์แบงก์) มีทั้งสิ้น 14.28 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.24 แสนล้านบาทหรือ 3.81% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 13.75 ล้านล้านบาท ส่วนยอดคงค้างเงินฝากมีจำนวน 15..48 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.13 แสนล้านบาทหรือ 4.12% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 14.87 ล้านล้านบาท
นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคาร ทหารไทยธนชาต หรือ ttb analytics เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจว่า” ปัจจุบันสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ในไทย สินทรัพย์สภาพคล่อง 4.61 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดือนกันปีก่อนอยู่ที่ประมาณ 4.21 ล้านล้านบาท สะท้อนสินทรัพย์สภาพคล่องจำนวนมาก โดยเป็นการเติบโตของบุคคลธรรมดาหรือเงินฝากรายย่อย จำนวน 8.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.98% หรือ 5.41แสนล้านบาท ส่วนภาคธุรกิจมีจำนวน 4.77 ล้านล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.55 แสนล้านบาทหรือเติบโต 8.04%
ทั้งนี้สาเหตุจาก ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 และจำนวนผู้ติดเชื้อ ทำให้ประชาชนหันมาออมเงินมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการจำกัดการเดินทางและการทำงานอยู่กับบ้าน (WFH) โอกาสในการจับจ่ายใช้สอยลดลง ประกอบกับก่อนหน้านนั้น ทั้งตลาดหุ้นและกองทุนต่างปรับลดลง ทำให้สินทรัพย์ส่วนหนึ่งถูกโยกกลับมาเป็นเงินฝาก ซึ่งในรอบ 1ปีที่ผ่านมา ภาคธุรกิจมีเงินฝากไหลเข้า 3.55 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นในอัตรา 8.04%
“ที่น่าสนใจคือ เงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ มีการโยกจากเงินฝากประจำ มาเป็นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ค่อนข้างมาก เห็นได้จากเงินฝากออมทรัพย์ของบุคคลธรรมดาในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา เติบโตขึ้นถึง 21% มีจำนวน 9.86 แสนล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนออมทรัพย์ต่อเงินฝากบุคคลธรรมดาขยับเพิ่มเกือบแตะ 70% จากก่อนหน้านั้นอยู่ที่ประมาณ 60%”นายนริศกล่าว
ส่วนกรณีที่รัฐบาลมีแผนกู้เงินเพิ่ม เพื่อนำใช้แก้ไขปัญหาจากผล
กระทบจากโควิด-19 ภายใต้แผนพ.ร.ก. เงินกู้ 5 แสนล้านบาท นายนริศกล่าวว่า แนวโน้มอาจจะเป็นลักษณะทยอยระดมทุน ซึ่งเทียบกับสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ที่มีเหลือเฟือ จึงเกินความเพียงพอ โดยไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่องจะตึงตัว เพราะแนวโน้มความต้องการสินเชื่อ ยังต้องรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรหรือบอนด์ยิลด์ระยะสั้นอายุ 3 ปีอยู่ในระดับตํ่าประมาณ 0.4%
ในแง่ต้นทุนของรัฐบาลนั้น ส่วนใหญ่จะออกพันธบัตร อายุ 5 ปี ซึ่งปัจจุบันบอนด์ยีลด์ก็อยู่ในระดับค่อนข้างตํ่าประมาณที่อัตรา 1.0% ซึ่งสถาบันไม่ว่า ธนาคาร หรือกลุ่มบริษัทประกันสามารถเข้ามาถือบอนด์ระยะยาวได้ เพราะไม่มีทางเลือกมากนัก อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่พันธบัตรรัฐบาลจะมีอายุกว่า 3 ปี 5 ปี 7 ปี 10 ปี และเกินกว่า 10ปี (Bench Mark)
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า การก่อหนี้ภาครัฐมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังพ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท มีผลบังคับใช้ โดยคาดว่า ภาครัฐก็จะเริ่มทยอยกู้เงินบางส่วนภายในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เพื่อใช้สำหรับเดินหน้ามาตรการกระตุ้น/เยียวเศรษฐกิจต่างๆ ให้ออกมาโดยเร็ว และแม้ในปี 2564 จะมีความต้องการใช้สภาพคล่องส่วนเกินอยู่ประมาณ 1.46 ล้านล้านบาท โดยเป็นผลต่างระหว่างความต้องการใช้สภาพคล่อง กับแหล่งที่มาของ
สภาพคล่อง เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ประมาณ 1.38 ล้านบาท แต่มองว่า ปัจจัยความต้องการใช้สภาพคล่องส่วนเกินนี้ ยังอยู่ในวิสัยที่บริหารจัดการได้ และคงไม่กดดันให้ผลตอบแทนหรืออัตราดอกเบี้ยตลาดพุ่งขึ้นจนถึงขั้นกระทบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะที่เหลือของปี
ทั้งนี้เนื่องจากยังสามารถใช้เครื่องมือของทางการ และนำสภาพคล่องสะสมจากส่วนอื่นๆ ในระบบมา
บริหารจัดการได้ ประกอบกับคาดว่า สถานการณ์ในครึ่งหลังของปี 2564 น่าจะมีแรงกดดันน้อยลง เนื่องจากแรงกดดันต่อดุลบัญชีเดินสะพัดน่าจะลดน้อยลงในครึ่งปีหลัง และอาจเริ่มกลับมามียอดเกินดุลได้ในระดับหนึ่ง หากมีความคืบหน้าในโครงการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในบางพื้นที่
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,682 วันที่ 27 - 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2564