ผ่านการลงมติวาระ 1 ไปแล้ว สำหรับร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ภายใต้กรอบวงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณขาดดุล 7 แสนล้านบาท เป็นตัวเลขสูงสุดที่กู้ได้ตามพ.ร.บ.วิธีงบประมาณ และนับเป็นการจัดทำงบประมาณเต็มเพดานครั้งที่ 3 ในรอบ 15 ปีนับจากปี 2549
นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า วงเงินกู้ชดเชยขาดดุลงบประมาณ 7 แสนล้านบาท เป็นตัวเลขที่คำนวณจากรายได้ที่กระทรวงการคลังคาดว่า ปี 2565 จะจัดเก็บได้ขั้นตํ่าที่ 2.4 ล้านบาท ตํ่ากว่าปี 2564 ที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 2.677 ล้านล้านบาท จากภาพรวมเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
“การตั้งงบต่างๆ จะดูจากหลายปัจจัย ทั้งงบลงทุน งบด้านสาธารณสุขและการดูแลสวัสดิการต่างๆ ซึ่งเมื่อคำนวณออกมาแล้ว จะอยู่ที่ราว 3.1 ล้านล้านบาท ทำให้ต้องตั้งงบกู้ชดเชยการขาดดุลเต็มเพดานที่ 7 แสนล้านบาท เพราะหากตํ่ากว่านี้ จะกระทบกับงบประมาณรายจ่าย ซึ่งไม่ควรตํ่ากว่า 3.1 ล้านล้านบาท เพราะได้ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปแล้ว ดังนั้นเมื่อกระทรวงการคลังยืนยันว่า จะจัดเก็บรายได้ที่ 2.4 ล้านล้านบาท จึงตั้งงบขาดดุลได้ที่ 7 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นกรอบสูงสุดที่ตั้งได้”นายเดชาภิวัฒน์กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากมีความเสี่ยงที่จะทำให้การจัดเก็บรายได้ตํ่ากว่าเป้าหมายที่ 2.4 ล้านล้านบาทนั้น ตามพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณได้ให้อำนาจรัฐในการบริหารงบประมาณไว้ ซึ่งในทางปฏิบัติที่ผ่านมาสามารถบริหารงบประมาณได้ตามกรอบ จึงต้องรอดูสถานการณ์ช่วงไตรมาส 2 และ 3 ปี 2565 ว่า การจัดเก็บรายได้เป็นไปตาม
เป้าหมายหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามเป้าหมาย กระทรวงการคลังจะรายงานมายังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อปรับแผนการบริหารและการใช้จ่ายงบประมาณอีกครั้ง
“ผมมองว่า ไม่น่าจะปรับลดอะไรอีก เพราะรายจ่ายที่ 3.1 ล้านล้านบาท เป็นการตั้งงบรายจ่ายที่ตํ่ากว่าปี 64 กว่า 1.8 แสนล้านบาท งบลงทุนก็ปรับลดลงไป 2 หมื่นล้านบาท ส่วนงบอื่นๆ ที่ตัดลดลงมาก็จะเป็นรายจ่ายประจำของกระทรวงต่างๆ ซึ่งไม่กระทบต่อสวัสดิการสังคมหรือด้านสาธารณสุข ซึ่งหากไปดูงบรายจ่ายระยะปานกลางปี2564-2566 เดิมตั้งสูงกว่านี้ แต่ได้ขอให้แต่ละหน่วยงานตัดลดงบที่ไม่จำเป็นออกไปก่อน หรือชะลอโครงการออกไปก่อน และให้ไปดำเนินการในปี 2566 แทน”
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,685 วันที่ 6 - 9 มิถุนายน พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: