อดีตขุนคลัง'สมหมาย'วิพากษ์! การคลังรัฐบาลบิ๊กตู่ 'กู้ก็ตายไม่กู้ก็ตาย' 

06 มิ.ย. 2564 | 06:45 น.

อดีตขุนคลัง"สมหมาย ภาษี" วิพากษ์การคลังรัฐบาลบิ๊กตู่ แหกกฏวินัยการคลัง ชี้แนวโน้มยังต้องก่อหนี้เพิ่ม จากภาระผูกพันงบ-คนตกงานศก.แย่  ฟันธง! หนี้สาธารณทะลุกรอบ 60% ไม่เกินกลางปี 65 คาดศก.ปีนี้ ขยายไม่เกิน 1.5%

 

สำนักข่าวอิศรา ได้เผยแพร่บทความเรื่อง "กู้ก็ตาย ไม่กู้ก็ตาย" เขียนโดยนายสมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง ระบุว่า การเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 (ต.ค. 2564 - ก.ย. 2565) เข้าพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรในขณะนี้ (31 พ.ค. – 3 มิ.ย.) ประเด็นที่พรรคฝ่ายค้านและรวมทั้งสื่อต่างๆโจมตีกันมากที่สุดก็คือการกู้เงินของรัฐบาล เพราะงบปี 2565 มีการกู้ชดเชยขาดดุลถึง 700,000 ล้านบาท ซึ่งเต็มพิกัดตามที่กฎหมายวิธีการงบประมาณบัญญัติไว้ จริงๆแล้วรัฐบาลที่มาจาก คสช. นี้ก็ได้กู้เงินชดเชยการคลังขาดดุลเต็มหรือเกือบเต็มพิกัดมา 5-6 ปีแล้ว แม้ไม่มีโควิด-19 ก็คงต้องกู้เท่าๆกันแหละ

พอมาเจอปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ คนว่างงานมากมายทั่วประเทศ คนจนไม่มีอาหารจะกิน ปัญหาทางสังคมนับตั้งแต่เรื่องฉกชิงวิ่งราวไปจนถึงการปล้นฆ่าและการฉ้อโกงด้วยวิธีพิสดารต่างๆนานาเกิดขึ้นอย่างมากมาย ตอกย้ำด้วยการค้ายาเสพติดที่ดาษดื่นทั่วทุกที่ ปัญหารุนแรงทางสังคมเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นประจำวันมากที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา พอมาเจอโควิด-19 ระบาดหนักรอบสาม ซึ่งเกิดจากการไร้ความสามารถในการจัดการดูแลของคณะรัฐบาล ก็จำเป็นที่รัฐบาลนี้ต้องกู้เงินเป็นกรณีพิเศษด้วยการออกกฎหมายเป็นพระราชกำหนดถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี 2563 กู้ 1 ล้านล้านบาท และครั้งที่สองในปี 2564 นี้กู้อีก 500,000 ล้านบาท

ภาวะการคลังของประเทศที่ย่ำแย่ที่สุดนับจากวิกฤตต้มยำกุ้งก็มีให้เห็นตอนนี้นี่แหละ ซึ่งหนักหนาคนละแบบ คราวนี้เราไม่มี IMF หรือใครมาคุม แต่ให้รัฐบาลที่สืบทอดมาจากการปฏิวัติของทหารเป็นผู้ดูแลและบริหารแบบรวบอำนาจอย่างที่เห็นๆกัน ประชาชนจึงมองไม่เห็นทางรอดเหมือนวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่ได้ระดมสรรพกำลังทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยมีเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันต่างประเทศกำกับดูแลอย่างเข้มงวด ใช้เวลา 2 ปี ก็ฟื้น แล้วประเทศไทยก็ลุกขึ้นยืนแล้ววิ่งได้ ต่างกับคราวนี้ดูแล้วไม่น่าจะโซซัดโซเซไปได้อีกนาน จึงกล่าวได้ว่าคราวนี้ “กู้ก็ตายไม่กู้ก็ตาย” 

การกู้ชดเชยขาดดุลงบประมาณเต็มพิกัดชนเพดานแบบไม่มีช่องว่างถึง 700,000 ล้านบาท ในปีนี้ ปรากฏว่าเป็นยอดเงินกู้ชดเชยการขาดดุลที่มากกว่างบลงทุนจากงบประมาณ ซึ่งแม้ได้รวบรวมตัวเลขทั้งก้อนเล็กก้อนน้อยมาคิดเต็มที่แล้ว ก็ได้แค่ 624,400 ล้านบาท ทำให้เกิดการแหกกฎหมายวินัยการคลังของรัฐปี 2561 มาตรา 20 (1) จนกระทั่งเกิดเสียงวิจารณ์จากผู้รู้อย่างกว้างขวาง เหตุการณ์นี้แม้ว่าจะมีการชี้แจงต่อสภาผู้แทนโดยนายกรัฐมนตรีแล้วตามวรรคท้ายของมาตรา 20 แต่ก็กระท่อนกระแท่นเต็มที

แม้ว่าฝ่ายรัฐบาลจะบอกว่าได้ดำเนินการชี้แจงไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้แล้วก็ตาม แต่นี่ก็ต้องถือว่าเป็นการดำเนินนโยบายการคลังภาครัฐที่ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ ปี 2561 เป็นครั้งแรกของรัฐบาลนับจากที่ได้มีกฎหมายนี้ และขอให้ดูให้ดี เราจะได้เห็นการแหกกฎหมายสำคัญนี้เกิดขึ้นอีกในเร็ววันนี้ ขณะนี้ได้คำนวณกันโดยหน่วยงานของรัฐว่าถ้าสภาผู้แทนอนุมัติเงินกู้ตาม พรก. กู้เงินพิเศษ 500,000 ล้านบาท หนี้สาธารณะของไทยจะอยู่แค่ 58% ซึ่งเรื่องนี้จะมีข้อมูลหนี้สาธารณะออกมาให้เห็นการทะลุกรอบ 60% ของ GDP ไม่เกินกลางปี 2565 ซึ่งก็คือการผิดกฎหมายวินัยการเงินการคลัง คราวนี้คงต้องรับสภาพอย่างเดียว

สิ้นปี 2564 นี้ คนไทยทุกคนมีโอกาสที่จะได้เห็นว่า GDP ของไทยปีนี้จะขยายตัวได้ไม่เกิน 1.5% ไม่ใช่ 2-3% อย่างที่สำนักวิชาการต่างๆของรัฐพยากรณ์ และในอีกไม่ถึง 6 เดือนข้างหน้าก็ต้องมีการเบิกจ่ายเงินจากยอดเงินกู้ชดเชยการขาดดุลมากทีเดียว เพราะฐานะเงินคงคลังตอนนี้ยอบแยบเต็มทน รายได้ภาครัฐหลุดเป้าอยู่แล้ว เผลอไม่ได้เลย 

ถ้าไม่กู้มาใช้ เงินที่จะช่วยไม่ให้ประชาชนคนจนอดตายก็จะไม่มี เงินจ่ายบำเหน็จบำนาญทุกเดือนก็จำเป็น เงินจ่ายค่ารักษาพยาบาลข้าราชการและลูกจ้าง รายจ่ายค่ารักษาพยาบาลโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค และรายจ่ายตามโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมกันแล้วเกินที่งบประมาณตามโครงสร้างปัจจุบันจะรับไหว และเมื่อรวมกับเงินใช้หนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยทั้งในส่วนที่เป็นเงินกู้ของรัฐบาลเองและของรัฐวิสาหกิจหลายแห่งที่รัฐรับผิดชอบอยู่บานเบอะ การบีบคั้นต่อการจัดสรรงบประมาณก็ยิ่งหนักข้อมากขึ้น 

ที่ต้องรู้ไว้อีกอย่างคือภาระผูกพันงบประมาณข้ามปีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งปีงบประมาณ 2564 นี้ และปีหน้า 2565 มีที่ต้องจ่ายอีกหลายแสนล้านบาท รายใหญ่ๆ คืองบผูกพันการก่อสร้างของกระทรวงคมนาคม งบผูกพันซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกระทรวงกลาโหม และงบผูกพันของกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น ปีหน้านี้ใครมาเป็นรัฐบาลก็จะต้องมีอาการปางตายเช่นเดียวกับประชาชนตาดำๆ 

สรุปแล้วสิ่งที่คนไทยทั้งรวยและจนจะได้เห็นเร็วๆนี้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลนี้หรือรัฐบาลหน้าก็ตาม ก็คือกู้ก็ตายไม่กู้ก็ตาย สุภาษิตโบราณบอกไว้ว่า ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา ตอนนี้ทั้งคนระดับรากหญ้าและคนทำมาค้าขายทั่วไปก็ต้องหลั่งน้ำตากันทุกแห่งหน อีกไม่นานเกินรอพวกเขาคงได้เห็นน้ำตาของคนระดับผู้นำกันบ้างละครับ

 

ที่มา : สำนักข่าวอิศรา