สินเชื่อแบงก์สวนโควิด โต 4.47%

17 มิ.ย. 2564 | 09:25 น.

ยอดสินเชื่อแบงก์ เดือนเม.ย.ปี 64 โต 4.47% ขณะที่สินเชื่อรายย่อยยังขยายตัวต่อเนื่อง 5.66% เงินเบิกเกินบัญชีลดลง 6.03% ทีทีบีประเมินช่วงที่เหลือ ภาคส่งออกฟื้นตัวจะเป็นตัวหนุนสินเชื่อธุรกิจ ขณะที่สินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับสุทธิ 11 แบงก์ เพิ่ม 3.49% เทียบช่วงก่อนโควิด  

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ขยายมาตรการพักหนี้ หรือ ชะลอเรียกเก็บหนี้ สำหรับบเอสเอ็มอี ออกไปถึงสิ้นปีนี้ จากที่จะครบกำหนด 30 มิถุนายน 2564 เพื่อช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากโควิด และกลุ่มที่ยังไม่มีกระแสเงินสดมาชำระหนี้ได้ พร้อมๆ กับบอกว่า อยู่ระหว่างพิจารณาขยายอายุลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบัน
การเงิน (FIDF)จาก 0.46% เหลือ 0.23% ออกไปจากที่จะสิ้นสุดสิ้นปีนี้ หากธนาคารพาณิชย์มีกลไกส่งผ่านต้นทุนที่ลดลงนี้ไปช่วยลูกหนี้ได้

ธปท.รายงานยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ เดือนเมษายน 2564 (ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564)พบว่า มีทั้งสิ้น 16.51 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.47% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ 15.81 ล้านล้านบาท โดยในจำนวนดังกล่าวพบว่า สินเชื่อธุรกิจขยายตัว  0.01%  จาก 5.970 ล้านล้านบาทเป็น 5.971 ล้านล้านบาท และสินเชื่อบุคคลธรรมดาขยายตัว 5.66% จาก 5.69 ล้านล้านบาทเป็น 6.01 ล้านล้านบาท 

นอกจากนั้น จากยอดสินเชื่อคงค้าง 16.51 ล้านบ้านบาทยังแยกเป็น เงินให้กู้ 13.52 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น 5.68% จาก 12.77ล้านบาท เงินเบิกเกินบัญชี 7.78 แสนล้านบาทลดลง 6.03% จาก 8.28 แสนล้านบาท ตั๋วเงิน 2.20 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.38% จาก 2.18 ล้านล้านบาท และอื่นๆ 5,549 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.39%  จาก  5,269 ล้านบาท

สินเชื่อแบงก์สวนโควิด โต 4.47%

อย่างไรก็ตาม รายงานย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สิน (ธพ.1.1) เฉพาะ 11 ธนาคารพาณิชย์เทียบเดือนเมษายนปี 2564 พบว่า ยอดคงค้างสินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับสุทธิมีจำนวน 12.15 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.09 แสนล้านบาทหรือ 3.49% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 11.74 ล้านล้านบาท และยังเพิ่มขึ้น 1.02 ล้านล้านบาทหรือคิดเป็น 9.25% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 ก่อนที่จะมีการระบาดของโควิด-19 ที่มียอดคงค้างทั้งสิ้น 11.12 ล้านล้านบาท

หากเทียบเป็นรายธนาคารพาณิชย์ พบว่า กสิกรไทยเป็นธนาคารที่ยอดสินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงที่สุด 13.91% รองลงมาคือ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร 11.91% ตามมาด้วย ธนาคาร ทหารไทย 8.83% และธนาคาร กรุงไทย 8.04% ขณะที่ธนาคารที่มีสินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับสุทธิลดลง ได้แก่ ธนาคารธนชาต -9.64% ทิสโก้ -7.08%  กรุงศรีอยุธยา 4.60% และ กรุงเทพ -2.15% 

ทั้งนี้ หากเทียบช่วงที่เกิดการระบาดของโควิดระลอก3 แล้วคือเดือนเมษายนปี 2564 กับเดือนเมษายนปี 2562 ซึ่งยังไม่เกิดการระบาดของโควิดพบว่า ยอดสินเชื่อคงค้างและดอกเบี้ยค้างรับสุทธิ 11 ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ปรับเพิ่มขึ้น ยกเว้น 4 ธนาคาร ที่มียอดสินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับสุทธิลดลง ประกอบด้วยทิสโก้  23,416 ล้านบาทหรือคิดเป็น 10.12% ถัดมาเป็นธนชาต -65,739 ล้านบาทหรือคิดเป็น -9.48%กรุงเทพ -65,053 ล้านบาทหรือคิดเป็น -3.60% และซีไอเอ็มบีไทย -2,802 ล้านบาทหริอ -1.32% 

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb Analytics) ธนาคารท หารไทยธนชาต(ttb)เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ภาพรวมความต้องการสินเชื่อในระบบมีแนวโน้มเติบโตไม่มากนัก หลักๆ จะมาจากสินเชื่อภาคธุรกิจที่มีโอกาสขยายตัว 5-6% เพราะได้รับอานิสงส์จากการส่งออกที่ฟื้นตัวได้ดี ขณะที่กลุ่มเอสเอ็มอี แม้จะรวมสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่า (ซอฟต์โลน) แล้วแนวโน้ม มองว่า ยังลดลง เนื่องจากมีเพียงบางรายที่ไปได้ดี แต่รายที่ยังไม่มียอดขาย ต่างระมัดระวังเรื่องการก่อหนี้ 

ขณะที่สินเชื่อรายย่อยที่ยังเห็นสัญญาณบวก แต่ไม่เติบโตแรงเหมือนกับธุรกิจรายใหญ่ แต่ที่เป็นห่วงคือ กลุ่มก่อสร้าง-รับเหมารายเล็ก รวมถึงรายที่รับงานภาครัฐจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนเพิ่มขึ้นรวมทั้งราคาเหล็ก

“จากต้นปีถึงเมษายนสินเชื่อทั้งระบบยังโต 1.4% หากเทียบเดือนมีนาคม ก็ยังเติบโตน้อย 0.5% เข้าใจว่า เป็นยอดสินเชื่อที่อนุมัติในไตรมาส1 ปีนี้ แต่หลังเดือนเมษายน ทุกแบงก์ต่างระมัดระวังปล่อยสินเชื่อ แต่ยอดสินเชื่อคงค้างที่เห็นขยายตัวขึ้นนั้น ไม่ใช่สินเชื่อใหม่ ส่วนหนึ่งมาจากที่แบงก์เร่งปรับโครงสร้างหนี้ ช่วยลูกค้าอัตราการชำระคืนหนี้ลดลง ซึ่งทั้งภาคธุรกิจและประชาชนต่างรักษาสภาพคล่องของตัวเอง” นายนริศกล่าว 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,688 วันที่ 17 - 19 มิถุนายน พ.ศ. 2564