Covid-19กดดันอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิด“อ่อนค่า” ที่ 32.12 บาท/ดอลล์

06 ก.ค. 2564 | 00:38 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ค. 2564 | 11:47 น.

ธนาคารกรุงไทยระบุอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าและสถานการณ์การระบาดทั่วโลกที่เลวร้ายลง จะกดดันภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอื่นๆ ยกเว้นสหรัฐฯ ทำให้ ตลาดถือครองเงินดอลลาร์มากขึ้น หนุนให้ โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ในระยะสั้น

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.12 บาท/ดอลลาร์ “อ่อนค่า”ลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.11 บาทต่อดอลลาร์  มองกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.05-32.20 บาท/ดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย ระบุแนวโน้มค่าเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าและ มีโอกาสผันผวนตามเงินดอลลาร์ จากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกและในไทยที่ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อทิศทางค่าเงินบาท  โดยสถานการณ์การระบาดทั่วโลกที่เลวร้ายลง จะกดดันภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอื่นๆ ยกเว้นสหรัฐฯ ทำให้ ตลาดถือครองเงินดอลลาร์มากขึ้น หนุนให้ โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ในระยะสั้นอยู่

 

นอกจากนี้ สถานการณ์การระบาดในไทยยังวิกฤติอยู่ จากยอดผู้ติดเชื้อรายวันที่อยู่ในระดับสูงและยังไม่มีทีท่าจะลดลง (ซึ่งตัวเลขที่แท้จริงอาจสูงกว่ายอดรายงาน จากข้อจำกัดด้านการตรวจหาผู้ติดเชื้อ) ส่วน การแจกจ่ายวัคซีนก็ดูจะล่าช้าและแผนการแจกจ่ายวัคซีนอาจไม่สามารถรับมือกับการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าได้ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติสามารถทยอยขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย และกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้

 

และนอกเหนือจากปัจจัยการระบาดของ COVID-19 เรามองว่า โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำ หลังราคาทองคำเริ่มรีบาวด์กลับขึ้นมาใกล้ระดับ 1,800 บาทต่อดอลลาร์ อาจเป็นอีกปัจจัยในระยะสั้นที่ช่วยหนุนแรงซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เงินบาทยังสามารถทรงตัวเหนือระดับ 32.00 บาทต่อดอลลาร์ ในระยะนี้ได้


 

ทั้งนี้ ควรระวัง โอกาสที่ค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าต่อถึงระดับ 32.25-32.50 บาทต่อดอลลาร์ หลังเงินบาทอ่อนค่าทะลุแนวต้านสำคัญแถว 32 บาทต่อดอลลาร์ ดังนั้นจากทิศทางค่าเงินบาทที่มีความผันผวนมากขึ้น จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะ การใช้ Options เพราะหากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวสวนทางกับสิ่งที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ผู้ประกอบการเองก็ยังสามารถเลือกได้ว่าจะใช้สิทธิ์ของ Options หรือไม่ ทำให้ผู้ประกอบการมีความยืดหยุ่นในการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่าการจอง Forward เพียงอย่างเดียว

 

ตลาดการเงิน โดยเฉพาะในฝั่งตลาดหุ้นมีการเคลื่อนไหวไม่มากนัก เนื่องจากวันก่อนหน้าเป็นวันหยุดของฝั่งสหรัฐฯ ทำให้ปริมาณธุรกรรมในตลาดเบาบางลง อย่างไรก็ดี ในฝั่งยุโรป แม้ว่าจะเผชิญความกังวลปัญหาการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Delta  แต่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจโดยรวมของยุโรป ยังคงสดใส อาทิ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (Services PMI) ที่ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 58.3 จุด ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ในเดือนมิถุนายน ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (Sentix Investor Confidence) ในเดือนกรกฎาคม ก็ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 29.8 จุด กอปรกับ แนวโน้มการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ในวันที่ 19 นี้ของรัฐบาลอังกฤษ ก็ช่วยหนุนให้ ดัชนี FTSE100 ของอังกฤษ ปรับตัวขึ้นกว่า +0.58% ขณะที่ STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยเพียง +0.07% นำโดยหุ้นกลุ่มการเงิน BNP Paribas +2.21%, ING +1.42%, Intesa Sanpaolo +1.41%%, Santander +1.33%

ทั้งนี้ ตลาดที่มีความเคลื่อนไหวมากสุด คือ ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์และ WTI ต่างพุ่งขึ้นต่อเนื่อง สู่ระดับ 77.1 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และ 76.3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ใกล้เคียงกับจุดสูงสุดในปี 2018 หลังที่ประชุม OPEC+ เกิดความขัดแย้งหนักระหว่างซาอุดิอาระเบีย กับ สหรัฐฯอาหรับเอมิเรต ทำให้กลุ่ม OPEC+ ไม่สามารถหาข้อสรุปในการเพิ่มกำลังการผลิตได้ ทั้งนี้ ความขัดแย้งภายในกลุ่ม OPEC+ ดังกล่าว อาจกระตุ้นให้เกิด สงครามราคาน้ำมันอีกครั้ง กดดันให้ ราคาน้ำมันดิบอาจผันผวนรุนแรงขึ้นได้

ทางด้านตลาดค่าเงินดอลลาร์ เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ย่อตัวลงใกล้ระดับ 92.24 จุด หลังเงินปอนด์ (GBP) แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง สู่ระดับ 1.385 ดอลลาร์ต่อปอนด์ จากความหวังการทยอยเปิดเมืองและผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ของรัฐบาลในวันที่ 19 นี้ ขณะเดียวกัน ค่าเงินกลุ่ม Commodities-linked อย่าง ออสเตรเลียดอลลาร์ (AUD) ก็แข็งค่าขึ้น สู่ระดับ 0.754 ดอลลาร์ต่อ AUD ตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น   

 

สำหรับวันนี้ ตลาดประเมินว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น ต่อเนื่อง สะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ โดย ISM (Services PMI) ที่ระดับ 63.5 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึงการขยายตัว)

 

ส่วนในฝั่งเอเชีย เรามองว่า บรรดาธนาคารกลางในฝั่งเอเชียจะเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป เพื่อประคับประคองการฟื้นตัวเศรษฐกิจจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ โดยเราคาดว่า ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Cash Rate) ไว้ที่ระดับ 0.10% พร้อมทั้งควบคุมยีลด์เคิร์ฟ (Yields Curve Control) โดยคงเป้าหมายบอนด์ยีลด์ 3 ปี ไว้ที่ระดับ  0.10%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 32.12 บาทต่อดอลลาร์ฯ ใกล้เคียงระดับปิดตลาดวันทำการก่อนหน้าที่ 32.11 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาททรงตัวในกรอบแคบๆ ประมาณ 32.11-32.17 บาทต่อดอลลาร์ฯ  ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ยังรอปัจจัยใหม่ๆ มากระตุ้น ซึ่งจุดสนใจของตลาดจะอยู่ที่รายงานการประชุม FOMC (ประชุมไปเมื่อ 15-16 มิ.ย.) ในช่วงกลางสัปดาห์  
 
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 32.00-32.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยที่ต้องติดตามจะอยู่ที่สถานการณ์การระบาดของโควิด 19 และการจัดการวัคซีนในประเทศ ทิศทางสกุลเงินในภูมิภาคและฟันด์โฟลว์ รวมถึงตัวเลขดัชนี PMI และ ISM ภาคบริการเดือนมิ.ย. ของสหรัฐฯ