รายงานข่าวการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม 2563 - พฤษภาคม 2564) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิจำนวน 1,441,416 ล้านบาท ขณะที่เป้าหมายตามประมาณการตามเอกสารงบประมาณอยู่ที่ 2,677,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงเหลือเวลาอีกเพียง 4 เดือน ที่จะต้องเร่งจัดเก็บรายได้ ให้ได้อีก 1,235,584 ล้านบาท ซึ่งรายได้ที่จัดเก็บพลาดเป้ามากเท่าไหร่ ก็จะส่งผลต่อการปิดหีบปีงบประมาณ 2564 มากเท่านั้น
อย่างไรก็ตามตามเอกสารงบประมาณปี 2564 ได้กำหนดตัวเลขการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณไว้ที่ 623,000 ล้านบาท ขณะที่กรอบวงเงินตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ สามารถกู้ชดเชยการขาดดุลได้สูงสุดอยู่ที่ 736,392 ล้านบาท ซึ่งจากสถานกาณ์การจัดเก็บรายได้ที่ต่ำเป้าต่อเนื่อง ทำให้ก่อนหน้านี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในการขยายกรอบการกู้ชดเชยการขาดดุลเพิ่มขึ้นอีก 1.2 แสนล้านบาท เพื่อเตรียมไว้สำหรับปิดหีบปีงบประมาณ 2564 ส่วนตัวเลขที่ชัดเจนว่าจะต้องกู้เท่าไหร่นั้น ยังต้องรอดูผลการจัดเก็บรายได้ในช่วงใกล้สิ้นปีงบประมาณ 2564 อีกครั้ง
นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หรือ สบน. เปิดเผยว่า สบน. ได้เตรียมเครื่องมือที่หลากหลายในการกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อปิดหีบปีงบประมาณ 2564 เพิ่มอีก 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งจะมีการทยอยกู้ตามแผนที่วางไว้ ซึ่งการกู้เงินดังกล่าวจะอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 โดยไม่ต้องออกกฎหมายอื่นเพิ่มเติม และจะไม่ทำให้ตัวเลขหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเกินกรอบเพดานที่ตั้งไว้ที่ 60% ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่กำหนด
“การกู้เงินชดเชยการขาดดุลเพิ่มเติมดังกล่าว จะไม่ทำให้ตัวเลขหนี้สาธารณะต่อจีดีพีปรับเพิ่มขึ้น ซึ่ง ณ สิ้นปีงบประมาณ 64 ตัวเลขหนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 58.56% ของจีดีพี ซึ่งเป็นตัวเลขที่ได้รวมกับสมมุติฐานการกู้เงิน ตาม พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทจนเต็มวงเงิน และรวมกับตัวเลขกู้เงิน 100,000 ล้านบาท เพื่อใช้จ่ายในปีงบฯ 64 จาก พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทแล้ว”
ส่วนการพิจารณาขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะนั้น นางแพตริเซีย กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ได้กำหนดให้มีการทบทวนสัดส่วนตัวเลขหนี้สาธารณะที่กำหนดไว้อย่างน้อยทุก 3 ปี แต่ขณะนี้ยังไม่ได้มีการนัดหารือในประเด็นดังกล่าว แต่เชื่อว่าจะต้องมีการประชุมเพื่อทบทวนตัวเลขหนี้สาธารณะอย่างแน่นอนภายในปีงบประมาณ 2564