ตลาดหุ้นเอเชียเปิดลบ นักลงทุนจับตาความเคลื่อนไหวราคาน้ำมัน

19 ก.ค. 2564 | 01:53 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ค. 2564 | 08:59 น.

ตลาดหุ้นเอเชียเปิดลบ นักลงทุนจับตาความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมัน หลังโอเปกพลัส ได้จัดการประชุมทางไกลในช่วงเย็นวานนี้(18 ก.ค.) มีมติเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน 4 แสนบาร์เรล/วันในเดือนสิหาคม-ธันวาคม 2564

ตลาดหุ้นเอเชียเปิดเช้านี้เคลื่อนไหวในแดนลบ ขณะที่นักลงทุนจับตาความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันหลังกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ได้จัดการประชุมทางไกลในช่วงเย็นวานนี้ (18 ก.ค.)

ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,530.49 จุด ลดลง 8.81 จุด หรือ -0.25%, ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 27,663.40 จุด ลดลง 339.68 จุด หรือ -1.21% และดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 27,786.54 จุด ลดลง 218.14 จุด หรือ -0.78%

ที่ประชุมโอเปกพลัสมีมติปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันรวม 2 ล้านบาร์เรล โดยให้ทยอยปรับเพิ่มเฉลี่ย 400,000 บาร์เรล/วันตั้งแต่เดือนส.ค.ไปจนถึงเดือนธ.ค.2564 เพื่อรองรับความต้องการน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ ที่ประชุมโอเปกพลัสยังได้บรรลุข้อตกลงที่จะยุตินโยบายการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 5.8 ล้านบาร์เรล/วัน ภายในเดือนก.ย.ปี 2565 โดยพิจารณาจากสภาวะตลาด        

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2563 โอเปกพลัสตัดสินใจปรับลดกำลังการผลิต 7.7 ล้านบาร์เรล/วันจนถึงสิ้นปี 2563 ก่อนที่จะลดกำลังการผลิต 5.8 ล้านบาร์เรล/วันตั้งแต่เดือนม.ค.2564 ซึ่งทำให้มีปริมาณน้ำมันดิบจากโอเปกพลัสไหลเข้าสู่ตลาดน้ำมันโลกเพิ่มขึ้น 2 ล้านบาร์เรล/วัน

แถลงการณ์การประชุมของโอเปกพลัสเมื่อวานนี้ระบุว่า สมาชิกโอเปกพลัสได้ตกลงที่จะปรับเพดานการผลิตโดยรวมตั้งแต่เดือนส.ค.ปีนี้ และจากนั้นจะประเมินสถานการณ์ความคืบหน้าในตลาด รวมทั้งประเมินผลการปฏิบัติตามข้อตกลงของสมาชิกโอเปกพลัสในเดือนธ.ค.ปีนี้ด้วย ทั้งนี้ ที่ประชุมโอเปกพลัสมีมติเห็นพ้องที่จะจัดการประชุมรายเดือนเพื่อประเมินสถานการณ์ตลาด
          นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ตกลงที่จะเพิ่มโควต้าการผลิตของสมาชิกบางประเทศตั้งแต่เดือนพ.ค. 2565 เป็นต้นไป โดยสมาชิกเหล่านี้รวมถึงสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE), ซาอุดีอาระเบีย, รัสเซีย คูเวต และอิรัก

มติการปรับเพิ่มโควต้าในครั้งนี้จะทำให้เกณฑ์การผลิตน้ำมันขั้นต่ำของ UAE ตั้งแต่เดือนพ.ค. 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 3.5 ล้านบาร์เรล/วัน จากปัจจุบันที่ระดับ 3.168 ล้านบาร์เรล/วัน ขณะที่เกณฑ์การผลิตขั้นต่ำของซาอุดีอาระเบียและรัสเซียจะเพิ่มขึ้นเป็น 11.5 ล้านบาร์เรล/วัน จากปัจจุบัน 11 ล้านบาร์เรล/วัน ส่วนเกณฑ์การผลิตขั้นต่ำของอิรักและคูเวตจะเพิ่มขึ้น 150,000 บาร์เรล/วัน

 ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อวันศุกร์ (16 ก.ค.) โดยถูกกดดันจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ร่วงลง อาทิ หุ้นแอมะซอน และหุ้นกูเกิล ขณะที่นักลงทุนวิตกเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาเพิ่มขึ้นในสหรัฐ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,687.85 จุด ลดลง 299.17 จุด หรือ -0.86%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,327.16 จุด ลดลง 32.87 จุด หรือ -0.75% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,427.24 จุด ลดลง 115.90 จุด หรือ -0.80%
          ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีดาวโจนส์ ลดลง 0.5%, ดัชนี S&P500 ติดลบ 1% และดัชนี Nasdaq ปรับตัวลง 1.9%