ช่วงโควิดผมได้อ่านหนังสือที่ได้รับจากเพื่อน VI ที่ส่งมาให้หลายเดือนแล้วแต่ยังไม่ได้มีเวลาอ่านเล่มหนึ่งชื่อ “Upheaval” เขียนโดย Jared Diamond นักเขียนรางวัลพูลิตเซอร์ “Guns Germs And Steal” ที่โด่งดังหลายปีก่อน หนังสือเล่มนี้พูดถึง “วิกฤติ” โดยเฉพาะของประเทศต่าง ๆ และจุดเปลี่ยนที่ทำให้ชาติพ้นจากวิกฤติ
ตัวอย่างของประเทศที่ถูกยกขึ้นมาพูดถึงในหนังสือรวมถึง การสงครามระหว่างฟินแลนด์กับสหภาพโซเวียตในช่วงก่อนและต่อไปจนจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นตั้งแต่ยุคเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่ในสมัยเมจิจนกลายเป็นมหาอำนาจและแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองและการรวมชาติเยอรมันตะวันออกกับตะวันตกภายหลังสงครามเย็น อเมริกาในประเด็นเรื่องความไม่เสมอภาคและปัญหาเรื่องชนชั้นในสังคม แต่ประเทศที่ผมสนใจมากกว่าก็คือวิกฤติของประเทศกำลังพัฒนาที่มีหลายสิ่งหลายอย่างคล้ายกับประเทศไทยโดยเฉพาะในด้านของการเมืองที่มักจะเกิดการรัฐประหารและการปกครองในระบบเผด็จการยาวนานซึ่งนำประเทศไปสู่วิกฤติและหนทางที่ประเทศเหล่านั้นออกจากวิกฤติและก้าวหน้าต่อไปในปัจจุบัน โดยตัวอย่างก็คือ ประเทศชิลีและอินโดนีเซียในยุคนายพลปิโนเชต์และซูฮาร์โตตามลำดับ
คำว่า “Upheaval” นั้น หมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและอย่างกะทันหัน เป็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่เลวร้ายก่อให้เกิดปัญหา ความยากลำบาก เกิดทุกข์เข็น ความสับสนโกลาหลและความกังวลในวงกว้างและมักจะต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน ตัวอย่างเช่นในตอนนี้ ในระดับโลก การเกิดการระบาดของโควิด-19 ก็ต้องถือว่าเป็น Upheaval ที่ “โลก” ต้องต่อสู้แก้ไขให้โรคนี้สงบลง เช่นเดียวกับเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่ทำให้โลกร้อนขึ้นก็ถือว่าเป็น Upheaval เช่นเดียวกันและเป็นเรื่องของ “โลก” ไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งที่จะสามารถแก้ไขให้สำเร็จได้ด้วยตนเอง ทั้งโลกต้องร่วมมือกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ “ยากและท้าทาย” แต่ก็ต้องทำให้ได้ ในระดับภูมิภาคหรือประเทศเองนั้น ตัวอย่างของ Upheaval เร็ว ๆ นี้ที่ชัดเจนก็คือในกรณีของเหตุการณ์ “อาหรับสปริง” ที่เกิดการ “ปฎิวัติของประชาชน” ล้มระบบการปกครองแบบเก่าที่เป็นเผด็จการและ “กดขี่” ประชาชนโดยผู้ปกครองหรือชนชั้นนำในกลุ่มประเทศอาหรับตั้งแต่ตูนิเซีย อียิปต์ ลิเบียและเยเมน และยังก่อให้เกิดกระแสการต่อสู้ขึ้นในหลาย ๆ ประเทศในย่านนั้นจนถึงปัจจุบัน
มีการวิเคราะห์ว่าสาเหตุของการเกิดอาหรับสปริงนั้น มาจากประเด็นทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองที่รุนแรงและเกิดขึ้นต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ นานเท่าไรก็คงจะบอกได้ยาก พูดแบบชาวบ้านหน่อยก็อาจจะบอกว่า “สุกงอม” โดย “รายการ” ที่น่าจะมีผลที่สุดที่ปรากฏในวิกิพีเดียน่าจะรวมถึงเรื่องของ อำนาจนิยมหรือระบบที่เป็นเผด็จการ โครงสร้างประชากรที่เป็นคนรุ่นใหม่มากขึ้น การทุจริตทางการเมืองและการละเมิดสิทธิมนุษยชน ภาวะเงินเฟ้อและความยากจน และการแบ่งแยกนิกายทางศาสนา เป็นต้น ส่วนเป้าหมายของ “ผู้ก่อการ” ก็คือการการล้มลัทธิอิสลามนิยม การทำประเทศให้เป็นประชาธิปไตย ให้มีการเลือกตั้ง มีเสรีภาพทางการค้าและมีสิทธิมนุษยชน เป็นต้น โดยวิธีการต่อสู้ของฝ่ายประชาชนนั้นก็เริ่มต้นจากการ “ดื้อแพ่ง” การเดินขบวนประท้วง การเผาตัวเอง การจลาจล การเคลื่อนไหวทางอินเตอร์เน็ตและออนไลน์ในสื่อสังคม การนัดหยุดงาน และการทำสงครามกลางเมือง เป็นต้น
กลับมาที่ประเทศไทย ผมลองนึกย้อนหลังดูก็พบว่าเราน่าจะมีเหตุการณ์ที่เรียกว่าเป็น Upheaval ในช่วงก่อน 14 ตุลาคม 2516 ที่ก่อนหน้านั้นมีเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมาย นำโดยนักศึกษาในมหาวิทยาลัยซึ่งมีอยู่ไม่กี่แห่งและมีจำนวนน้อยนิดที่มีความไม่พอใจในระบบเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของประเทศที่เป็นระบบอภิสิทธิชนและมีการกดขี่ไม่เป็นประชาธิปไตยและยังไม่มีแม้แต่รัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่ถูก “ฉีกไป” ในการรัฐประหารก่อนหน้านั้น ผมยังจำได้ว่ามีเหตุการณ์ “ทางการเมือง” ต่าง ๆ เกิดขึ้นไม่เว้นวัน มีการต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น มีการเปิดโปงการทำผิดกฎเกณฑ์และกฎหมายของผู้มีอำนาจระดับสูงมาก เช่น เรื่องการเข้าป่าล่าสัตว์ มีการประท้วงเรื่องสิทธิมนุษยชนเช่นเรื่องการฆ่าแล้วเผาในถังแดง และสุดท้ายมีการ “เรียกร้องรัฐธรรมนูญ” อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ทั้งหมดนั้นก่อให้เกิดกรณี 14 ตุลา 16 และตามมาด้วย 6 ตุลาคม 19 ซึ่งหลังจากเป็น “Upheaval” มาหลายปี เราก็ “ผ่านมาได้” ด้วยการแก้ไขที่ถูกต้อง ประเทศไทยกลับมาเจริญงอกงามต่อมาจนถึงเมื่อเร็ว ๆ นี้ แม้ว่าจะยังมีปัญหามาเป็นระยะ ๆ แต่ก็ยังห่างไกลจากวิกฤติในระดับหายนะ
ปรากฏการณ์ในระยะประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาของไทยนั้น ดูเหมือนว่าเราจะเริ่มประสบปัญหารุนแรงที่ดำเนินต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ เริ่มตั้งแต่ความขัดแย้งของกลุ่มคนสองฝ่ายคือฝ่ายที่เป็นชนชั้นนำ-สูงอายุกับคน “ชั้นล่าง” และคนหนุ่มสาว กลุ่มคนอนุรักษ์กับเสรีนิยม ความไม่ยุติธรรมและความเหลื่อมล้ำในสังคมระหว่างคนชั้นสูงหรือผู้มีอำนาจกับคนที่ยากไร้ ระบบการเมืองที่ “ไม่เป็นประชาธิปไตย” ระบบความยุติธรรมที่ “ลำเอียง” ไม่เป็นกลาง การกระจายของข้อมูลข่าวสารผ่านระบบอินเตอร์เน็ตและสื่อสังคมสมัยใหม่ที่ทำให้มีความเห็นที่รุนแรงและแตกแยกมากขึ้น มีการรัฐประหารและมีการ “ต่อสู้” โดยการประท้วงและการอดอาหาร มีการปิดกั้น “เสรีภาพ” ในการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง มีการละเมิด “สิทธิมนุษยชน” ในด้านต่าง ๆ มีการ “คอร์รัปชั่น” ของผู้มีอำนาจที่ไม่สามารถเอาผิดได้ ถ้าจะพูดไปเรื่อย ๆ ก็น่าจะยังมีประเด็นที่มีความรุนแรงและเกิดขึ้นอย่างกระทันหันทำให้เกิดปัญหา เกิดความทุกข์ยากสับสนเป็นระยะ ๆ และแน่นอนว่าประเด็น “ล่าสุด” ก็คือ การอุบัติขึ้นของโรคโควิด-19 ที่เข้ามา “ซ้ำเติม” จนสังคมไทยแทบจะ “ทนไม่ไหว”
ผมเองคิดว่าประเทศไทย ณ.ขณะนี้อาจจะเข้าข่ายเป็น “Upheaval” ไปแล้ว อาจจะไม่ใช่สาเหตุเรื่องของโควิดเท่านั้น แต่เป็นภาพโดยรวมของประเทศที่ดำเนินต่อเนื่องมานานหลายปีแล้ว โควิดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เข้ามาซ้ำและน่าจะรุนแรงที่สุด ทางออกของประเทศไทยคืออะไร? คำตอบจาก Jared Diamond ก็คือ
1) คนในชาติจะต้องมีความเห็นพ้องร่วมกันว่าประเทศอยู่ในภาวะวิกฤติ ผมเองคิดว่าตั้งแต่เกิดโควิด-19 คนไทยก็มีความเห็นพ้องร่วมกันมากขึ้นว่าเรามีปัญหาจริง ๆ จากที่ก่อนหน้านี้หลายคนคิดว่าไทยไม่มีปัญหา เป็นปัญหาของคนบางกลุ่มที่....เท่านั้น
2) ต้องยอมรับว่าเป็นภาระรับผิดชอบของประเทศที่ต้องลงมือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง
3) ล้อมรั้ว กำหนดขอบเขตปัญหาของประเทศที่จำเป็นต้องแก้ไข เรื่องนี้ผมนึกถึงการแก้ปัญหาทางสังคมของคนที่ถูกกระทบจากโควิดหรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย เป็นต้น
4) หาความช่วยเหลือทางวัตถุและทางการเงินจากต่างประเทศ ผมคิดว่าเรามีเงินพอ แต่ทางวัตถุก็อาจจะเป็นวัคซีนโควิดที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น
5) ถือประเทศอื่นเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหา ข้อนี้ผมคิดว่าจะต้องเปลี่ยนความคิดของคนว่าที่เราเจริญมาตลอดในประวัติศาสตร์นั้น ก็อยู่ที่การเลียนแบบมาจากคนอื่นที่เจริญกว่า ไม่มีอะไรน่าอาย
6) อัตลักษณ์แห่งชาติ ข้อนี้ก็คือต้องดูว่าคนไทยมีนิสัยหรือคุณสมบัติแบบใด การแก้ปัญหาก็ควรจะคำนึงถึงประเด็นเหล่านี้ด้วย
7) ประเมินจุดอ่อนจุดแข็งประเทศของตนอย่างซื่อตรง
8)ประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเกี่ยวกับวิกฤติชาติครั้งก่อนหน้านั้น นั่นก็คือกรณีวิกฤติเดือนตุลาคมปี 2516 และ 2519 ที่เราต้องศึกษา
9) แก้ปัญหาความล้มเหลวของประเทศ
10) ความยืดหยุ่นในสถานการณ์เฉพาะของประเทศ
11)ค่านิยมหลักของประเทศ
12) การเป็นอิสระจากข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์
ทั้งหมดนั้นก็คือ ความพยายามที่จะ “ปรองดอง” ไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายจนเกิด “ต้นทุน” มหาศาลจนรับไม่ไหว เป็นทางเลือกที่จะออกจากวิกฤติโดยที่จะเกิดผลดีต่อการก้าวต่อไปอย่างแข็งแกร่งในอนาคต แน่นอนว่าต้องมีคนที่ต้อง “เสียสละ” เพื่อให้ประเทศเดินต่อไปได้