สำนักงบฯ แจง สธ.แจ้งเบิกผิด ทำเบิกจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรแพทย์ล่าช้า

24 ก.ค. 2564 | 08:04 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.ค. 2564 | 15:16 น.

ผอ.สำนักงบ แจงเหตุเบิกจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ล่าช้า เหตุ สธ. แจ้งเบิกงบผิดหน่วยงาน และยังคำนวณขอเบิกงบผิด รวมทั้งยังไม่ส่งเอกสารเบิกย้อนหลัง ชี้ส่งหนังสือกลับ สธ.แล้ว ให้เร่งดำเนินการให้ถูกต้อง

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจ ชี้แจง กรณี หนังสือทวงถาม อ้างถึงสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายประจำปีงบประมาณ 2564 งบกลาง สำหรับรายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหาและเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด19 ระยะการระบาดระลอกเมษายน 2564 ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 6,823,406,608 บาท ลงวันที่ 8 ก.ค. 2564 มายังสำนักงบประมาณนั้น นายเดชาภิวัฒน์ กล่าวว่า การเบิกจ่ายดังกล่าวผิดหลักการ เนื่องจาก จำนวนเงินค่าตอบแทนที่ขอมา เป็นการคำนวณจากจำนวนเจ้าหน้าที่คูณด้วยจำนวนคนไข้ที่เข้ารับการรักษาการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งถือว่าผิดหลักการ โดยวันที่ 22 ก.ค.64 ที่ผ่านมา นายเดชาภิวัฒน์ ได้ทำหนังสือตอบกลับไปยังกระทรวงสาธารณสุข ถึงการเบิกจ่ายค่าตอบแทน จะต้องคำนวนจากจำนวนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานจริงบวกกับชั่วโมงการทำงาน โดยขอให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งยื่นรายละเอียดดังกล่าวกลับมาอีกครั้ง

เงินค่าตอบแทนดังกล่าวที่ขอเบิกมา เป็นการเบิกย้อนหลัง ลักษณะเหมือนกับการเบิกเงินโอทีหรือเบิกเงินทำงานล่วงเวลา ดังนั้นหนังสือที่ส่งมาล่าสุดต้นเดือน ก.ค. ซึ่งสาธารณสุขควรจะต้องมีเอกสารการขอเบิกเงินจากบุคคลากรที่ปฏิบัติงานจริงแล้วอย่างน้อย 2 เดือนคือ เม.ย. – พ.ค. 64 ซึ่งเมื่อสำนักงบได้เอกสารดังกล่าว ก็จะนำมาคำนวนกับอัตราค่าตอบแทนที่กระทรวงคลังกำหนด โดยใช้อัตราค่าตอบแทนคูณกับจำนวนชั่วโมงการทำงาน เพราะหากจะใช้วิธีคำนวณจากจำนวนคนไข้ หากกรณีคนไข้ลดลงก็เท่ากับว่าเงินค่าตอบแทนจะต้องถูกตัดลดลงไปด้วย ซึ่งไม่ใช่แนวทางการเบิกจ่ายค่าตอบแทนที่กำหนดไว้” นายเดชาภิวัฒน์  กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายเดชาภิวัฒน์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 กระทรวงสาธารณสุขได้ทำหนังสือมายังสำนักงบฯ เพื่อขอเบิกจ่ายงบประมาณสำหรับการแก้ไขปัญหาและเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด19 ระยะการระบาดระลอกเมษายน 2564 โดยระบุเป็นค่าใช้จ่ายตอบแทนบุคลากร รวมไปถึงค่าคุรุภัณฑ์ และอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งสำนักงบฯ ได้ส่งหนังสือชี้แจงกลับไปว่า ในส่วนของการเบิกจ่ายงบฯ สำหรับการจัดซื้อครุภัณฑ์ หรืออุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์นั้น จะอยู่ในส่วนของงบประมาณตาม พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งจะต้องยื่นเรื่องเบิกจ่ายไปยังสภาพัฒน์ หรือที่ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งเป็นผู้ดูแลการเบิกจ่ายเงินกู้ตาม พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณค่าตอบแทนเสี่ยงภัยบุคลากรหรือเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ให้ส่งเอกสารวงเงินที่ใช้จ่ายจริงมายังสำนักงบเพื่อทำเรื่องเบิกจ่ายต่อไป