คลัง คาดโควิดพีคช่วง ส.ค. และดีขึ้นก่อน ต.ค. หนุน GDPปี64 ยังบวก 1.3%

29 ก.ค. 2564 | 05:33 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ค. 2564 | 12:46 น.

คลัง คาดการระบาดของโควิด-19 จะพีคสุดช่วง ส.ค. และหากสถานการณ์ดีขึ้นก่อน ต.ค.64 จะทำให้เศรษฐกิจไตรมาส 4 เริ่มกลับมาฟื้นส่งผลนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยเพิ่มอีก 2 แสนคน ขณะที่ส่งออกทั้งปีโต16.6% หนุน GDP ปี64 ยังบวกได้ 1.3%

นางสาวกุลยา ตันติเตมิทผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยตัวเลขประมาณการณ์ทางเศรษฐกิจไทยปี 2564 โดยคาดว่าจะขยายตัวที่1.3% ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 0.8% ถึง 1.8% ) เมื่อเทียบกับประมาณการครั้งก่อน ณ เดือนเมษายน 2564 ที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.3% เนื่องจากเกิดการระบาดระลอกเดือนเมษายน ที่ส่งผลให้ต้องใช้มาตรการล็อดดาวน์ในบางพื้นที่ ซึ่งกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทย ทั้งนี้คาดว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 จะทำสุดสูงสุดในช่วงเดือนสิงหาคม และสถานการณ์จะค่อยๆดีขึ้นก่อนเข้าสู่ไตรมาส 4 ซึ่งจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามาไทยมากขึ้นในช่วงไตรมาส 4 อีกประมาณ 2 แสนคน และเมื่อรวมกับทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยประมาณ 3 แสนคน ขณะเดียวกันภาคการส่งออกทั้งปีจะขยายตัวได้ดีขึ้นอยู่ 16.6% เพิ่มจากประมาณการณ์ครั้งก่อนที่คาดว่าจะบวกได้ที่ 11% เนื่องจากสถานการณ์เศรฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจของ 15 ประเทศคู่ค้าหลักของไทยที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 5.7%

นอกจากนี้การใช้จ่ายภาคสาธารณะยังขยายตัวได้ดี โดยคาดว่ารายจ่ายสาธารณะทั้งปีจะอยู่ที่ 4.06 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7%  ขณะที่การเบิกจ่ายตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท  ที่จะมีการอนุมัติและเบิกจ่ายได้ทั้งหมดภายในปีงบประมาณ 2564 รวมทั้งจะกู้เงินเพิ่มเติมจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท สำหรับใช้ในการแก้ปัญหาโควิด-19 ในปีนี้อีก 2 แสนล้านบาท  

 

โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวอีกว่า ตัวเลขหนี้สาธารณะยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ 60%ต่อจีดีพี ซึ่งสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะยืนยันแล้วว่ายังสามารถบริหารจัดการการกู้เงินให้อยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่กำหนดได้ แต่ทั้งนี้หากจำเป็น ก็ยังสามารถขยายกรอบหนี้สาธารณะได้  พร้อมยอมรับว่าจากสถานการณ์เศรษฐกิจในไทย ทำให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐปีนี้ไม่เป็นไปตามเป้าที่ 2.67 ล้านล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายประมาณ 2 แสนล้านบาท

 

“จากรายได้ที่หายไปประมาณ 2 แสนล้านบาท คลังได้มีการพิจารณาแล้วว่าภายใต้กรอบการกู้เงิน พ.ร.ก. เงินกู้และ การกู้ชดเชยขาดดุลงบประมาณยังสามารถรองรับรายได้ที่หายไปได้ และยังสามารถรักษาระดับเงินคงคลังไว้ได้ที่ 4 แสนล้านบาท ดังนั้นจึงไม่กังวลเรื่องการบริหารจัดการเงินคงคลัง” น.ส.กุลยา กล่าว  

ขณะที่ เศรษฐกิจไทยในปี 2565 กระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ในช่วง 4.0% ถึง 5.0% โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายลงและมีการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย จำนวน 12 ล้านคน ในขณะที่การส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ การจ้างงาน และสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ ส่งผลให้การใช้จ่ายภายในประเทศจะกลับมาฟื้นตัวได้ดี  

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1) ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 2) ข้อจำกัดในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ  3) ความไม่แน่นอนของตลาดน้ำมันโลก หากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในหลายประเทศรุนแรงขึ้น รวมทั้งการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านพลังงาน และ 4) ทิศทางนโยบายการเงินโลกที่มีแนวโน้มเข้มงวดขึ้นจะส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ 

 

โดยโฆษกกระทรวงการคลัง ย้ำว่า ประเทศไทยยังมีฐานะการคลังที่มั่นคงและมีเสถียรภาพ ทำให้กระทรวงการคลังมีความพร้อมในการดำเนินมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปโดยแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐประกอบกับนโยบายการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่เน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง