นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร(KKP)กล่าวว่า ครึ่งปีหลังแนวโน้มยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยผลกระทบจากสถานการณ์โควิดน่าจะเห็นชัดในไตรมาสที่ 3 หากสถานการณ์ยืดเยื้อถึงไตรมาส 4 มีโอกาสที่ครึ่งปีหลังธุรกิจต่างๆจะชะลอจากครึ่งปีแรก โดยกลุ่มKKP ให้น้ำหนักรักษาอัตราผลตอบแทนส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) จากครึ่งปีแรกอยู่ที่ระดับ 14% เน้นเติบโตสินเชื่อในกลุ่มที่มีศักยภาพ หลังจากปรับเป้าสินเชื่อทั้งปีอยู่ในช่วง 8-12%จากที่ผ่านมาทำได้แล้ว 7% ส่วนหนึ่งสินเชื่อที่เติบโตนั้น มาจากมาตรการพักหนี้ ยอดคงค้างสินเชื่อจึงไม่ปรับลดลง ส่วนหนี้ เอ็นพีแอลแนวโน้มยังเป็นขาขึ้นทั้งปีไม่น่าเกิน 4.0% ซึ่งเป้าท้าทายจากครึ่งปีแรกที่ผ่านมาอยู่ที่ 3.4% โดยในส่วนเงินสำรองส่วนเกินปัจจุบันมีประมาณ 5,000 ล้านบาท มีอัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ที่ 160%และสำรองสำหรับลูกหนี้ตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)อยู่ที่ 140%ซึ่งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและรายการขาดทุนจากการยึดรถหรือ Credit Cost เพิ่มขึ้นประมาณ 2.8% ซึ่งสูงกว่าก่อนสถานการณ์โควิด
“ ครึ่งปีหลังการปล่อยสินเชื่อกลุ่มที่มีศักยภาพยังมีอยู่ ซึ่งเป้าเติบโตสินเชื่อภาพรวม 8-12%มาจากสินเชื่อที่มีหลักประกันทั้งเช่าชื้อ ที่อยู่อาศัย ธุรกิจรายใหญ่ เช่นลูกค้าบรรษัท และธุรกิจตลาดทุน แต่ยอมรับว่าครึ่งปีหลังธุรกิจต่างๆจะชะลอจากครึ่งปีแรกและโอกาสในการปล่อยสินเชื่อใหม่พื้นที่จะถูกจำกัดเล็กลง เพราะผลกระทบจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์”
อย่างไรก็ตาม ครึ่งปีแรกธุรกิจตลาดทุนเติบโตได้ดี ทั้ง 5ด้าน ได้แก่ ธุรกิจนายหน้าลูกค้าสถาบันมูลค่าธุรกรรมเพิ่มจากปีก่อนทำให้มีส่วนแบ่งทางตลาด 12% ธุรกิจไพรเวทเวลธ์ มูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร(AUM)เติบโตขึ้น 8หมื่นล้านบาทจากปีก่อน เป็นจำนวน 6.75 แสนล้านบาทโดยมีเงินลงทุนใหม่จากลูกค้าประมาณ 2หมื่นล้านบาท ซึ่งมูลค่าเงินลงทุนลูกค้าเติบโตขึ้นจากการเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่และแนะนำลูกค้าไปลงทุนต่างประเทศ ไม่ว่ากองทุนทั่วไป หรือกองทุนมันนี่มาร์เก็ต , ธุรกิจหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) AUM ปรับเพิ่มขึ้น 95,000ล้านบาทหรือ 12% ,ธุรกิจวาณิชธนกิจ(ไอบี) มีความหลากหลายในบริการทั้ง ตราสารหนี้ตลาดแรก การควบรวมกิจการ การปรับโครงสร้าง หรือ ธุรกิจเทรดดิ้งและอินเวสเม้น อย่างเคสออกตราสารยังมีลูกค้าอีกกว่า 20ดีล
ด้านนายฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารKKPกล่าวว่า สินเชื่อเช่าซื้อทั้งปีตั้งเป้าไม่เกิน 12% โดยที่ผ่านมาปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 9.7% ส่วนแนวโน้มยอดขายรถใหม่อาจจะไม่ถึงเป้า 7.4แสนคันโดยเฉพาะเดือนกรกฎาคมหากสถานการณ์ระบาดของโควิดยังมีต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรถยนต์ใช้แล้ว(รถเก่า) แนวโน้มราคายังค่อนข้างดี เนื่องกลุ่มลูกค้าในวิกฤติหันมาใช้รถเก่าจึงเพิ่มโอกาสการเติบโตแต่ขณะเดียวกันในแง่ของการให้บริการยังต้องระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง
ต่อข้อถามประเด็นปรับลดเพดานดอกเบี้ยนั้น ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะจะทำให้การแข่งขันไม่เป็นปกติ ขณะเดียวกันในสภาวะที่ยากลำบากยิ่งทำให้ลูกค้าเข้าไม่ถึงตลาดสินเชื่อในระบบแต่ต้องหันไปพึงตลาดนอกระบบ จึงไม่เป็นผลดีต่อตลาดและระบบ สำหรับเคเคพีปัจจุบันสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อกว่า 99%เป็นสินเชื่อเช่าซื้อปกติ โดยสินเชื่อจำนำทะเบียนอยู่ในช่วงเริ่มทำตลาดเพียงส่วนน้อย โดยกำลังศึกษาความเป็นไปได้ของตลาด และคาดว่าจะมีโปรดักต์สินเชื่อจำนำทะเบียนออกมาในเร็วๆนี้
นายปรีชา เตชรุ่งชัยกุล ประธานสายการเงินและงบประมาณ ธนาคารKKP กล่าวว่าสัดส่วนสินเชื่อพอร์ต 2.85แสนล้านบาทแบ่งเป็น สินเชื่อเช่าซื้อ 1.4แสนล้านบาท ประมาณ 48% สินเชื่อบ้านประมาณ3หมื่นล้านบาทหรือราว 10% สินเชื่อธุรกิจลูกค้าระดับกลางประมาณ 20% ของพอร์ตที่เหลือเป็นสินเชื่อบรรษัท 13-14% ซึ่งครึ่งปีแรก กลุ่มธุรกิจฯ มีกำไรสุทธิเท่ากับ 2,817 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.6% จากครึ่งปีแรกปีก่อน โดยเป็นกำไรสุทธิของธุรกิจตลาดทุน จำนวน 936 ล้านบาท ในส่วนของ ปริมาณการตั้งสำรองสำหรับปี 2564 มีอัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ที่ 160.1% นอกจากนี้ ธนาคารมีรายได้เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิรวมถึงรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 7,624 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 6.6% ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 3,726 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.2% จากครึ่งปีแรก 2563 และธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio)คำนวณตามเกณฑ์ Basel III ซึ่งรวมกำไรถึงสิ้นไตรมาส 2/2564 อยู่ที่ 17.89% และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1จะเท่ากับ 13.51%
“ รายได้ของกลุ่มเคเคพี ประมาณกว่า 9,000ล้านบาทหรือ 80%หลักๆมาจากแบงก์ปล่อยสินเชื่อ โดยประมาณ 2,500ล้านบาทมีการกระจายตัวในธุรกิจต่างๆ โดยกลุ่มธุรกิจเคเคพีมีรายได้ดอกเบี้ยประมาณ 60% ส่วนรายได้ไม่ใช่ดอกเบี้ยประมาณ 30-40% ซึ่งรายได้ดอกเบี้ยสุทธิกว่า 7,000ล้านบาทนั้นเกือบ 70%มาจากพอร์ตสินเชื่อรายย่อย”