ศูนย์วิจัยกสิกรไทยติดตาม 4ปัจจัยหลัก “ผลประชุมของกนง. (4 ส.ค.)- อัตราเงินเฟ้อของไทยเดือนก.ค. -สถานการณ์และมาตรการควบคุมโควิด-19 ในประเทศ -ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญทั้งเศรษฐกิจสหรัฐ ดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนก.ค. ของยูโรโซน ญี่ปุ่นและจีน”
สัปดาห์หน้า (2-6 ส.ค.2564) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.65-33.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงินของกนง. (4 ส.ค.) อัตราเงินเฟ้อของไทยเดือนก.ค. รวมถึงสถานการณ์และมาตรการควบคุมโควิด-19 ในประเทศ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร การจ้างงานภาคเอกชนรายงานโดย ADP ดัชนี PMI และ ISM ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนก.ค. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนมิ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ ตลอดจนการรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนก.ค. ของจีน ยูโรโซน และอังกฤษด้วยเช่นกัน โดยเมื่อวันศุกร์ (30 ก.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 32.87 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 32.91 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (23 ก.ค.)
สำหรับตลาดหุ้นไทยดัชนี SETเมื่อวันที่ 23กรกฎาคมที่ผ่านมา ปิดที่ระดับ 1,521.92 จุด ลดลง 1.50% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 79,176.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.19% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 2.40% มาปิดที่ 495.46 จุด
สัปดาห์หน้า ระหว่างวันที่ 2-6สิงหาคม 2564 บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,500 และ 1,485 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,545 และ 1,555 จุด ตามลำดับ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมกนง. (4 ส.ค.) สถานการณ์โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ และมาตรการในการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ รวมถึงการทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/64 ของบจ. ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือนก.ค. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนก.ค. ของยูโรโซน ญี่ปุ่นและจีน