การกระจายวัคซีนที่กว้างขวาง และสร้างภูมิคุ้มกันได้มากขึ้นทั่วโลก และแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศที่พัฒนาแล้ว นำโดยสหรัฐฯ ทำให้ทิศทางการลงทุนทองคำกลับเป็นขาลง และทำระดับต่ำสุดของปีอีกครั้ง แม้ว่ายอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตในประเทศจะยังไม่ลดลงก็ตาม
นางฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทิศทางราคาทองคำในช่วงครึ่งหลังปีนี้ อาจตกอยู่ภายใต้ความแน่นอนมากขึ้น ซึ่งหากการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ท้ายที่สุด ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจเริ่มลดนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) รวมถึงอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันราคาทองคำ ทำให้นักลงทุนต้องระมัดระวังในการถือครองทองคำมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ วายแอลจีขยับกรอบแนวรับแรกของปีนี้ลงมาอยู่บริเวณ1,676-1,630 ดอลลาร์/ออนซ์หรือ 26,200-25,500บาท/บาททองคำ หากไม่หลุด ราคาจะยังคงรักษาแนวโน้มเชิงบวกไว้ได้ ทำให้ราคาทองคำยังคงมีโอกาสทดสอบแนวต้าน แต่หากราคาเกิดหลุดแนวรับแรก มุมมองเชิงบวกจะลดลง ราคามีโอกาสอ่อนตัวทดสอบแนวรับถัดไปโซน 1,530 ดอลลาร์/ออนซ์หรือ 23,950 บาท/บาททองคำ
“แม้ในทางเทคนิค ราคาทองคำในระยะยาว จะยังคงเป็นบวก แต่ในด้านปัจจัยฟื้นฐานนั้นต้องยอมรับว่าแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดอาจเปลี่ยนไป ย่อมจะส่งผลกระทบต่อราคาทองคำ และการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า อาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวในตลาดแรงงานสหรัฐ หากฟื้นตัวเชื่องช้า จนทำให้เฟดชะลอการถอนมาตรการ QE ออกไปก่อน ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ยังคงสร้างแรงหนุนให้กับทองคำตลอดปีนี้ได้”นางฐิภากล่าว
สำหรับกระจายความเสี่ยงพอร์ตลงทุนด้วยทองคำนั้น นอกจากนี้ การทำกำไรจากการเคลื่อนไหวของราคาแล้ว YLG แนะนำให้ลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำราว 5%-10% ของพอร์ตการลงทุน ทั้งนี้ช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ความต้องการในภาคการลงทุนทองคำแท่งในไทยอยู่ที่ 12ตันเพิ่มขึ้นจากระดับติดลบหรือยอดขายสุทธิ-34.9 ตันหรือเพิ่มขึ้นถึง 134% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน
นายกฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ประธานกรรมการ บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุก จำกัด (MTS GOLD Group)กล่าวว่า ราคาทองคำในปัจจุบันยังเป็นแนวโน้มขาลง แม้ว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาจะแกว่งตัวมากหลังจากตัวเลขเศรษฐกิจออกมาไม่ดี โดยราคาทองคำปรับลดลงถึงจุดต่ำสุดใหม่ในรอบปีและค่อยๆ ปรับขึ้นมายืนที่ 1,780 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ แต่เป็นการปรับขึ้นทางเทคนิคอลรีบาวด์มากกว่า ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นขาขึ้นแต่อย่างใด ซึ่งหากจะเป็นแนวโน้มขาขึ้นต้องปรับขึ้นเป็น 1,810 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์
ทั้งนี้ปัจจัยที่กดดันราคาทองคำโลกคือ การทยอยลดมาตรการ QE ที่จะมีการประชุมของเฟด ในสัปดาห์หน้าอาจจะมีการหารือเรื่องดังกล่าว ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า จะทยอยลด QE ในช่วงปลายปีนี้ หรือเร็วขึ้นในเดือนกันยายนนี้ ทำให้กระทบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และราคาทองคำร่วงตาม คล้ายกับช่วงที่มีการทยอยลด QE เมื่อปี 2555 แต่อาจไม่ได้ลงไปลึกมากและไม่สามารถปรับขึ้นต่อได้
ขณะที่ราคาทองคำจะปรับขึ้นได้ต่อ มีโอกาสค่อนข้างยาก จากแรงกดดันที่จะทยอยลดคิวอี รวมถึงสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐแม้จะยังมีตัวเลขการติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตและป่วยหนักมีจำนวนน้อยลงเมื่อเทียบกับการแพร่ระบาดในช่วงแรก เพราะมีภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น ซึ่งราคาทองคำจะปรับขึ้นได้นั้น สหรัฐจะต้องติดเชื้อพุ่งขึ้นและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในทองคำระยะสั้นยังมองเป็นขาขึ้นได้ แต่ระยะกลาง-ยาว ยังเป็นขาลง โดยนักลงทุนที่จะออมระยะยาว รายย่อย หรือซื้อทองรูปพรรณ และออมทอง ให้ทยอยซื้อเก็บสะสมได้ ส่วนนักลงทุนรายใหญ่ต้องเข้าลงทุนตามแนวโน้ม ทั้งนี้ มองกรอบราคาทองคำโลกอยู่ที่ 1,770 -1,800 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์
ส่วนราคาทองคำในประเทศแนวรับอยู่ที่บาทละ 27,800 บาท และแนวต้านอยู่ที่บาทละ 28,200 บาท
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,706 วันที่ 19 - 21 สิงหาคม พ.ศ. 2564