นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb Analytics)เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สินเชื่อเอสเอ็มอี ไตรมาส 2 ปี 2564 ขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.7% เมื่อเทียบจากปลายปีที่แล้วที่ติดลบ 5% ส่วนหนึ่งมาจากสินเชื่อฟื้นฟูจากภาครัฐ หากไม่รวมสินเชื่อฟื้นฟูยังติดลบ 1.3% โดยยอดคงค้างสินเชื่อเอสเอ็มอีอยู่ที่ 3.36 ล้านล้านบาท ลดลง 10.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 3.78 ล้านล้านบาท และหากเทียบไตรมาส 1 อยู่ที่ 3.29 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.56 หมื่นล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 2.29%
นายนริศกล่าวว่า สินเชื่อฟื้นฟูมีส่วนช่วยกลุ่มเอสเอ็มอีที่ยังประคับประคองตัวเองและกลุ่มที่ยังพอไปได้ แต่ปัญหาขณะนี้คือ รายได้ที่ลดลงของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หายไปจากการล็อกดาวน์ ทั้งภาคบริการและภาคการค้า ไม่ใช่ปัญหาต้นทุน
แม้จะมีมาตรการรัฐช่วยประคับประคอง เช่นช่วยลดเรื่องค่าแรง หรือการจ้างงาน แต่ก็ไม่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องรายได้โดยตรง ต้องใช้มาตรการด้านเศรษฐกิจและด้านสาธารณสุขที่ดี หากคลายล็อคดาวน์เปิดเมืองได้ คนกลับมาใช้จ่ายอีกครั้ง รายได้จึงจะกลับมา
ดังนั้น สำหรับเอสเอ็มอีกลุ่มที่รายได้ไม่มี แต่ยังมีรายจ่ายค่าแรงงานและวัตถุดิบ การได้วงเงินเพิ่ม แม้อัตราดอกเบี้ยต่ำ ก็ไม่ตอบโจทย์ โดยเฉพาะถ้าทำธุรกิจต่อแล้วกระแสเงินสด (CashFlow) หรือกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายพักจ่าย (EBITDA : Earn Before Interest Tax Depreciation)ติดลบ ยิ่งทำก็ยิ่งกินทุน
แนวทางที่จะปลดล็อกคือ การพักทรัพย์ พักหนี้ แต่ผู้ประกอบการไม่กล้าตัดสินใจเข้าร่วม เพราะไม่แน่ใจเรื่องรายได้ในอนาคต ดังนั้นรัฐควรนำโครงการสินเชื่อฟื้นฟูกับพักทรัพย์ พักหนี้มาผสานกัน โดยนำสินเชื่อฟื้นฟู มาเป็นวงเงินการันตีและเป็นสภาพคล่องช่วยผู้ประกอบการให้สามารถกลับมาซื้อกิจการคืนในอีก 3-5 ปีข้างหน้า เพื่อให้ผู้ประกอบการกล้าตัดสินใจเข้าพักทรัพย์ พักหนี้มากขึ้น
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,709 วันที่ 29 สิงหาคม - 1 กันยายน พ.ศ. 2564