อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.72 บาทต่อดอลลาร์ไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทมีแนวโน้มยังแกว่งตัวในกรอบ Sideways แต่ในช่วงระหว่างวันเงินบาทอาจผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้ จากแรงขายทำกำไรสินทรัพย์ไทยโดยนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเราเริ่มเห็นนักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรหุ้นและบอนด์ไทยมากขึ้นตลอดสัปดาห์นี้
ทั้งนี้ โดยรวม เรามองว่า เงินบาทยังคงมีแนวต้านอยู่ที่ระดับ 32.90-33.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่อาจจะเริ่มเห็นบรรดาผู้ส่งออกเข้ามาทยอยขายเงินดอลลาร์มากขึ้น ขณะที่แนวรับหลักของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 32.50-32.60 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเราเริ่มเห็นบรรดาผู้นำเข้าทยอยเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทกลับมาแข็งค่าใกล้ระดับดังกล่าว (Buy on Dip)
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.65-32.80 บาท/ดอลลาร์
ตลาดการเงินในฝั่งสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงจากความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจหลังการระบาดของ COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ ประเด็นการปรับลดการอัดฉีดสภาพคล่อง (คิวอี) ของ เฟด ยังมีส่วนในการกดดันตลาดการเงินสหรัฐฯ
หลังจากที่บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดยังเชื่อในแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ และมองว่ามีโอกาสที่เฟดจะสามารถทยอยลดคิวอีได้ในปีนี้ ซึ่งภาวะปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาดได้กดดันให้ ดัชนี S&P500 ปรับตัวลดลง -0.46% ส่วนหุ้นเทคฯ ก็โดนทยอยขายทำกำไรต่อเนื่อง ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดลบราว -0.25%
ทางด้านตลาดยุโรป แม้ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อดีขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน พร้อมกับประกาศ “ปรับลด” ปริมาณการซื้อสินทรัพย์เล็กน้อยในโครงการ PEPP (Pandemic Emergency Purchase Program) ที่เริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2020 จากเดือนละกว่า 8 หมื่นล้านยูโร (ซึ่งตลาดคาดว่า ECB อาจลดปริมาณการซื้อสินทรัพย์ลงเหลือ 6-7 หมื่นล้านยูโร ต่อเดือน)
ทั้งนี้ ประธาน ECB ได้ระบุว่า การปรับลดดังกล่าว ยังไม่ใช่การส่งสัญญาณถอนมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างไม่ได้กังวลต่อการปรับลดอัตราการซื้อสินทรัพย์ของ ECB มากนัก ดังจะเห็นได้จากการที่ ตลาดหุ้นยุโรปโดยรวมทรงตัว ส่วนเงินยูโร (EUR) ก็ไม่ได้แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง และ บอนด์ยีลด์ 10ปี เยอรมนี กลับปรับตัวลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ -0.36%
ในฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด รวมถึงผลประมูลบอนด์ 30ปี สหรัฐฯ ที่มีความต้องการสูงกว่าคาด ได้กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลง 4bps สู่ระดับ 1.30% ทั้งนี้ แนวโน้มของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ อาจผันผวนและกลับมาปรับตัวขึ้นได้ หากในการประชุมเฟดเดือนกันยายนได้มีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนขึ้นถึงแนวทางการทยอยปรับลดคิวอี
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ปรับตัวลดลงใกล้ระดับ 92.50 จุด ตามการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการแข็งค่าของเงินปอนด์ (GBP) จากความคาดหวังของผู้เล่นในตลาดว่า ในการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ในวันที่ 23 กันยายน อาจมีการส่งสัญญาณทยอยปรับลดคิวอีหรือใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น
นอกจากนี้ เงินปอนด์ยังได้แรงหนุนจากการเปลี่ยนสถานะถือครองของผู้เล่นที่เลือกถือเงินปอนด์ มากกว่าเงินยูโร หลังผู้เล่นในตลาดไม่ได้กังวลการทยอยลดคิวอีของ ECB มากนัก
สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าเฟด อาทิ Bowman และ Mester เพื่อวิเคราะห์มุมมองต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจของเฟด รวมถึงแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น อาทิ การลดคิวอี ว่าเฟดยังคงมุมมองลดคิวอีในปีนี้ หรือไม่ หลังจากในวันก่อนหน้า บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ยังคงเชื่อมั่นแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ และ สนับสนุนการทยอยลดคิวอีในปีนี้ หากเศรษฐกิจฟื้นตัวตามคาด