วงเงินใหม่มาแล้ว! 1 แสนล้าน สินเชื่อฟื้นฟู เฟส 2

17 ก.ย. 2564 | 12:58 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ย. 2564 | 19:58 น.

บสย. พร้อมค้ำ สินเชื่อฟื้นฟู เฟส 2 วงเงิน 100,000 ล้านบาท มั่นใจกระตุ้นเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้าย พร้อมปรับเกณฑ์ใหม่ ช่วยผู้ประกอบการกลุ่มโมโคร – SMEs เปราะบาง มากขึ้น จ่ายเบาๆ ค่าธรรมเนียมต่ำ เริ่มต้น 1% ต่อปี

นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์  รักษาการผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)เปิดเผยว่า บสย.ได้เปิดรับคำขอค้ำประกันสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ที่เข้าร่วมโครงการค้ำประกันสินเชื่อ ตามพระราชกำหนดให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564  ระยะที่ 2 หรือ สินเชื่อฟื้นฟู เฟส 2 วงเงิน 100,000 ล้านบาท

นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์  รักษาการผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ 3 กลุ่มได้แก่ 1. ผู้ประกอบการกลุ่มไมโคร (Micro) 2.ผู้ประกอบการ SMEs 3. กลุ่ม คอร์ปอเรท (Corporate)

จุดเด่นของโครงการคือ การปรับเกณฑ์การค้ำประกันสินเชื่อให้ดียิ่งขึ้น เพื่อช่วยผู้ประกอบการกลุ่มไมโคร และ กลุ่ม SMEs เปราะบาง ได้ลดภาระต้นทุนค่าธรรมเนียม และเพิ่มโอกาสได้วงเงินสินเชื่อเพิ่ม ได้แก่

 

1.ปรับลดค่าธรรมเนียมค้ำประกันทันทีตั้งแต่ปีแรก สำหรับผู้ประกอบการกลุ่มไมโคร และ กลุ่ม SMEs เปราะบาง จ่ายเบา เริ่มต้นเพียง 1% ต่อปีต่อเนื่อง 4 ปีแรก รวม 13% ตลอดระยะเวลา 10 ปี

 

2.เพิ่มโอกาสผู้ประกอบการกลุ่มไมโคร และกลุ่ม SMEs เปราะบาง ได้รับวงเงินสินเชื่อเพิ่มขึ้นสูงสุด 50 ล้านบาทต่อราย

 

3.เพิ่มความมั่นใจให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อโดย บสย. จ่ายค่าประกันชดเชยเต็ม 100% ในกลุ่มไมโคร (Micro) จากเดิม 90%  และ กลุ่ม SMEs เปราะบาง จากเดิม 80% 

วงเงินใหม่มาแล้ว!  1 แสนล้าน สินเชื่อฟื้นฟู เฟส 2

สำหรับผู้ประกอบการกลุ่มคอร์ปอเรท (Corporate) รัฐบาลได้ช่วยบรรเทาภาระต้นทุน จ่ายค่าธรรมเนียม 1% ต่อปีต่อเนื่อง 2 ปีแรก รวม 14 % ตลอดระยะเวลา 10 ปี โดย บสย. ค้ำประกันสูงสุดไม่เกิน 150 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน  และมีระยะเวลาค้ำประกันสูงสุดถึง 10 ปี  เริ่มรับคำขอตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2564 สิ้นสุดรับคำขอวันที่ 9 ตุลาคม 2566

 

คุณสมบัติของผู้ประกอบการที่ขอรับการค้ำประกันสินเชื่อ ประกอบด้วย 

1. เป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ที่จดทะเบียนและมีสถานประกอบการในประเทศไทย

2. มีวงเงินสินเชื่อธุรกิจกับสถาบันการเงิน ณ วันที่ 28 ก.พ.2564 ไม่เกิน 500 ล้านบาท หรือไม่มีวงเงินสินเชื่อธุรกิจกับสถาบันการเงิน

3. ไม่เป็น NPL ณ 31 ธ.ค.2562

4. ไม่เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ยกเว้น บริษัทที่จดทะเบียนในตลาด MAI

5. ไม่เป็นผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน

 

ทั้งนี้ในกระบวนการพิจารณาการอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ ประกอบด้วย 8 ขั้นตอนดังนี้

1.ผู้ขอสินเชื่อติดต่อธนาคารพร้อมยื่นเอกสาร 

2.ธนาคารพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ

3.ธนาคารนำส่งเอกสารให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ

4.ธนาคารส่งคำขอค้ำประกันสินเชื่อมาที่ บสย.

5. บสย.ตรวจสอบเอกสาร ถูกต้อง ครบถ้วน 

6.อนุมัติค้ำประกัน 

7. บสย.แจ้งอนุมัติพร้อมส่งเอกสารเพื่อให้ธนาคารนัดหมายผู้ขอสินเชื่อ   

8.ผู้ประกอบการได้รับสินเชื่อ 

 

สำหรับผลดำเนินงาน ค้ำประกันสินเชื่อ ระหว่าง 1 มกราคม ถึง 12 กันยายน 2564 บสย. ได้อนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ รวมทุกโครงการวงเงินรวม กว่า 182,000 ล้านบาท และได้อนุมัติหนังสือค้ำประกัน  (LG)  ไปแล้วจำนวนกว่า  162,800 ฉบับ