อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “อ่อนค่า” ที่ระดับ 33.35 บาท/ดอลลาร์

21 ก.ย. 2564 | 00:51 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.ย. 2564 | 10:13 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังมีแนวต้านสำคัญใกล้ระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ อาจทำให้ผู้เล่นบางส่วนเริ่มขายทำกำไรซึ่งพอจะช่วยหนุนไม่ให้เงินบาทอ่อนค่าไปมากได้

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.35 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่า”ลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.34 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท เราคงมุมมองว่า เงินบาทยังคงเผชิญปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่า มากกว่าแข็งค่า โดยในระยะสั้น อาจเห็นแรงขายบอนด์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติเพิ่มเติม จากทั้งความกังวลว่าปริมาณการออกบอนด์ในอนาคตอาจสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ หลังรัฐบาลได้ขยายเพดานหนี้สาธารณะและประกาศกู้เงินเพิ่มเติม นอกจากนี้ ผู้เล่นบางส่วนยังปิดสถานะเก็งกำไรเงินบาทแข็งเพิ่มเติม ท่ามกลางความไม่แน่นอนของแนวโน้มการระบาดในประเทศ ซึ่งภาพดังกล่าวก็ถูกสะท้อนผ่านแรงเทขายบอนด์ระยะสั้น

 

นอกเหนือจากปัจจัยในประเทศดังกล่าวนั้น เงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดในระยะนี้ รวมถึง แรงกดดันจากการอ่อนค่าของเงินหยวน (CNY และ CNH) ที่อาจส่งผลกระทบต่อสกุลเงินเอเชียโดยรวม จากความกังวลว่าปัญหาผิดนัดชำระหนี้ของ Evergrande จะส่งผลกระทบหนักเป็นวงกว้าง

 

อย่างไรก็ดี เงินบาทยังมีแนวต้านสำคัญใกล้ระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเรามองว่า การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำจากภาวะปิดรับความเสี่ยง อาจทำให้ผู้เล่นบางส่วนเริ่มขายทำกำไรการรีบาวด์ของทองคำได้บ้าง ซึ่งพอจะช่วยหนุนไม่ให้เงินบาทอ่อนค่าไปมากได้ (ขายทำกำไรทองคำในสกุลดอลลาร์ แล้วแลกกลับเป็นเงินบาท ทำให้เมื่อราคาทองคำปรับตัวขึ้น เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นตาม)

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.30-33.45 บาท/ดอลลาร์

ตลาดการเงินโดยรวมเผชิญภาวะปิดรับความเสี่ยงอย่างหนัก ท่ามกลางความกังวลว่าปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทยักษ์ใหญ่อสังหาฯ ของจีน Evergrande อาจลุกลามส่งผลกระทบรุนแรงเป็นวงกว้าง นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดยังเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยเดิมๆ อาทิ แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและผลกำไรที่เริ่มชะลอลง รวมถึง ความกังวลว่าเฟดอาจส่งสัญญาณถอนคิวอีที่ชัดเจนขึ้นในการประชุมสัปดาห์นี้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเลือกที่จะขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงและเพิ่มการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย อาทิ บอนด์ 10ปี สหรัฐฯ รวมถึง เงินดอลลาร์ เงินเยน และทองคำ เพื่อหลบความผันผวนในระยะนี้

 

ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินในฝั่งสหรัฐฯ นั้น ได้ส่งผลให้ ดัชนี Dowjones ปรับตัวลง -1.78% เช่นเดียวกันกับ ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.70% ทั้งนี้ หุ้นเทคฯ ก็ต่างเผชิญแรงเทขายหนัก กดดันให้ ดัชนี Nasdaq ดิ่งลงกว่า -2.19%

 

ส่วนทางด้านตลาดยุโรป ดัชนี STOXX50 เผชิญแรงเทขายที่หนักหน่วง กดดันให้ดัชนีปรับตัวลงกว่า -2.11% นำโดยหุ้นในกลุ่มการเงินที่เผชิญแรงเทขายจากความกังวลว่า ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของ Evergrande อาจลุมลามส่งผลกระทบทั่วโลกได้ Santander -4.8%, BNP Paribas 4.5% นอกจากนี้ หุ้นในกลุ่ม Cyclical โดยรวมก็ต่างปรับตัวลดลง อาทิ กลุ่มยานยนต์ Volkswagen -3.9%, BMW -2.7%

 

ในฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดต่างพากันเพิ่มสถานะถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย หลังตลาดกลับมาปิดรับความเสี่ยงจากประเด็น Evergrande รวมถึงความกังวลเฟดส่งสัญญาณการปรับลดคิวอีที่ชัดเจนขึ้น ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลงราว 8bps สู่ระดับ 1.30%

ทั้งนี้ นอกเหนือจากประเด็นความเสี่ยงดังกล่าวที่กระทบต่อบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ นั้น ยังมีประเด็นการเจรจาขยายเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่และช่วยกดดันให้บอนด์ยีลด์ 10ปี ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ไทย นักลงทุนต่างชาติทยอยเทขายทั้งบอนด์ระยะสั้นต่อเนื่อง หลังจากที่ผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับลดสถานะเก็งกำไรเงินบาทแข็งผ่านบอนด์ระยะสั้น ซึ่งเรามองว่า แรงเทขายบอนด์ระยะสั้นไทยอาจมีต่อได้บ้าง ตามแนวโน้มเงินบาทที่ยังเผชิญความเสี่ยงด้านอ่อนค่าอยู่ ส่วนบอนด์ระยะยาวอาจเริ่มถูกเทขายน้อยลง จากภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด ทำให้อาจมีผู้เล่นบางส่วนเข้ามาซื้อบอนด์ระยะยาวบ้าง

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก จากความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย เพื่อรับมือกับความผันผวนในตลาด ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องใกล้ระดับ 93.23 จุด ซึ่งการแข็งค่าของเงินดอลลาร์นั้นได้กดดันให้ เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงแตะระดับ 1.173 ดอลลาร์ต่อยูโร ในขณะที่ เงินเยน (JPY) แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 109.4 เยนต่อดอลลาร์ จากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย เช่นเดียวกันกับ ราคาทองคำที่รีบาวด์ขึ้นมาสู่ระดับ 1,765 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ หลังผู้เล่นในตลาดกลับมาถือสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น

 

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดยังคงติดตามปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัท Evergrande ว่าทางการจีนจะเข้ามาช่วยเหลืออย่างไรบ้าง เพื่อไม่ให้ปัญหาดังกล่าวลุมลามและส่งผลกระทบรุนแรง นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะยังคงเฝ้ารอผลการประชุมเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดมีแนวโน้มที่จะปรับลดความเสี่ยงจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ไปก่อนในระยะสั้นนี้

 

ทางด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า  เงินบาทอ่อนค่าทดสอบแนว 33.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ อีกครั้งในช่วงเช้าวันนี้ (ระดับอ่อนค่าสุดในรอบประมาณ 1 เดือน) ก่อนจะกลับมาปรับตัวอยู่ที่ระดับ 33.37-33.39 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.34 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้อาจโน้มเอียงไปในทิศทางที่อ่อนค่าตามสัญญาณขายสินทรัพย์เสี่ยง ขณะที่ตลาดยังคงติดตามสถานการณ์ของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่กำลังเผชิญปัญหาขาดสภาพคล่องหนักอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้เงินบาทน่าจะยังมีปัจจัยกดดันด้านอ่อนค่าจากสถานะขายสุทธิพันธบัตรของนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน 
 
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 33.30-33.45 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ สถานการณ์โควิดของไทย และการรายงานตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนส.ค. ของสหรัฐฯ