thansettakij
เอ็กซิมแบงก์ เผยปรากฎการณ์ “แม่น้ำ4สาย” แนะ SME เร่งทำ 4 เช็ค

เอ็กซิมแบงก์ เผยปรากฎการณ์ “แม่น้ำ4สาย” แนะ SME เร่งทำ 4 เช็ค

22 ก.ย. 2564 | 09:42 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.ย. 2564 | 16:54 น.

เอ็กซิมแบงก์ เผย ปรากฎการณ์แม่น้ำ 4 สาย แนะ SME เร่งทำ 4 เช็ค ชี้ SME ไทย 3.1 ล้านราย พบ 99% ยังพึ่งพิงตลาดไร้อนาคต พร้อมตั้งเป้าดัน SME ไทยเป็นผู้ส่งออกไม่ต่ำกว่า 1 แสนราย

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวในงานเสวนา “จับคู่ กู้เงิน คลายทุกข์ SME” ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ โดยระบุว่า เศรษฐกิจโลกจะเกิดปรากฎการณ์ “แม่น้ำ 4 สาย” คือ ปิง วัง ยม น่าน หรือบริบทในเชิงบวก 4 มิติ คือ 1. ค่าบาทเป็นใจ จากการอ่อนค่า ทำให้สินค้ามีความน่าสนใจในแง่ของราคา 2. กลุ่มสินค้าไทยโดนใจ เป็นที่สนใจ อยากซื้อ อยากใช้ในชีวิตประจำวัน 3.เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีมาก ถึง 6% เศรษฐกิจอเมริกาโตถึง 8% จีนโต 8% ออสเตรเลียโต 5% และกลุ่มอียูโตเกือบ 6% และ 4.ราคาสินค้าดีขึ้น

 

“เมื่อทั้ง 4 สาย คือ ปิง วัง ยม น่าน ไหลมารวมกัน ทำให้เกิดโมเมนตั้มที่ดีขึ้นแบบผิดหูผิดตา แต่ยังต้องย้อนกลับมาดูว่าสินค้าไทย หรือ แผนธุรกิจของ SME เป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นที่ต้องการของตลาดโลกในช่วงที่เป็นขาขึ้นหรือไม่ หรือ เป็นที่ต้องการของเศรษฐกิจโลกหรือไม่” นายรักษ์ กล่าว

รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK

พร้อมระบุจริตของผู้บริโภคปัจจุบัน คือ “รักง่าย หน่ายเร็ว” และ “โควิด-19 ยังเป็นนาฬิกาปลุก” ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จึงแนะ SME ให้เร่งทำ 4 เช็ค คือ 1.เช็คเงินสด หรือความแข็งแกร่งของธุรกิจ และจำเป็นต้องมีแผนบี หรือแหล่งเงินที่ 2 และแหล่งเงินที่ 3  2.เช็คสมอง หรือ แผนธุรกิจและการบริหารจัดการความเสี่ยง 3.เช็คอ๊อกซิเจน หรือ สถานะของคู่ค้าและสถานการณ์ของตลาด และ 4. เช็คกระดูกสันหลัง หรือ เทคโนโลยีการผลิตและการดำเนินธุรกิจว่ายังทันสมัยหรือไม่   

งานเสวนา “จับคู่ กู้เงิน คลายทุกข์ SME” งานเสวนา “จับคู่ กู้เงิน คลายทุกข์ SME”

โดยนายรักษ์ ระบุว่า จากจำนวน SME ไทยที่มีกว่า 3.1 ล้านราย พบว่ามีเพียง 1% หรือ 3 หมื่นกว่าราย ที่เติบโตเป็นผู้ส่งออก ขณะที่อีก 99% ยังคงพึ่งพิงตลาดที่ไม่มีอนาคต ดังนั้นถึงเวลาที่เรือเล็กควรออกจากฝั่ง พร้อมตั้งเป้าผลักดัน SME ไทยเติบโตเป็นผู้ส่งออกเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1 แสนราย ทั้งนี้สิ่งที่เอ็กซิมแบงก์อยู่ระหว่างดำเนินการร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศ คือ การหาตลาดที่เติบโตใหม่ให้กับสินค้าหรือบริการของไทย เช่น เอเชียใต้ แอฟริกาใต้ และ อเมริกาใต้ และทำการจับคู่ธุรกิจ รวมทั้งการดึงให้ SME เข้าไปอยู่ในห่วงโซ่ของธุรกิจขนาดใหญ่ มีการเติมวงเงิน และเติมความรู้ เช่น การป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน การทำการันตีการรับประกันการชำระเงิน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เล่นในปี 2565 จำเป็นต้องรู้  

 

ขณะที่ “การจับคู่กู้เงิน” เป็นแนวคิดใหม่ เหมือนกับเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยน ดังนั้นในฐานะหน่วยงานรัฐ และ แบงก์รัฐ การดูแลผู้ประกอบการ SME จึงต้องทำมากกว่าการเติมเงินเสริมสภาพคล่อง คือ การหาคู่ให้ หรือการจับคู่ธุรกิจ โดยเอ็กซิมแบงก์ ได้เริ่มกดปุ่ม เมื่อวันที่ 7 ก.ค.64 ซึ่งล่าสุด มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยื่นคำขอเข้ามาเกือบ 500 ราย เป็นวงเงินกว่า 3,700 ล้านบาท โดยได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 252 ราย คิดเป็นวงเงินกว่า 1,600 ล้านบาท จากกรอบวงเงินรวมของโครงการที่ 2,500 บาท ซึ่งหากเต็มวงเงินโครงการก็พร้อมจะเติมเงินเข้าไปเพิ่มอีก 2,500 ล้านบาท

 

“ในสัดส่วนผู้ที่ได้เงินสินเชื่อไป 64% เป็นคนตัวเล็ก หรือ ธุรกิจที่มียอดขายไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อปี และยังได้ดอกเบี้ยในอัตรา บวกลบ 4% ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยเจ้าสัว ดังนั้นถือเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และถือเป็นโอกาสทองของคนตัวเล็ก ที่จะได้สินเชื่อในการปรับเปลี่ยนธุรกิจของตัวเองให้ดีขึ้น” นายรักษ์ กล่าว