นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ กลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบีเอส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรณีที่บริษัทประกันภัยบางแห่งเกิดปัญหาในการจ่ายเงินสินไหมชดเชยการติดเชื้อโควิด-19 ล่าช้าและอาจมีการเลิกจ้างพนักงานจากยอดการเคลมที่พุ่งขึ้นนั้น มองว่า เป็นปัญหาเฉพาะบางบริษัทที่มีขนาดเล็ก และบางรายไม่ได้เป็นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จากช่วงต้นปีที่มีการเสนอขายแผนประกันเจอ จ่าย จบ ในราคาที่ค่อนข้างต่ำ
อย่างไรก็ตาม พบว่า อัตราค่าสินไหมทดแทน (Loss Ratio) ประกันการติดเชื้อโควิด-19 ในปี 2564 อยู่ในระดับค่อนข้างสูง เนื่อง จากปีนี้มีการติดเชื้อค่อนข้างมาก และมีการขายประกันในราคาที่ถูก บางรายได้ลูกค้ามากขึ้น แต่ไม่ได้คาดคิดว่า จะมีการระบาดหนักในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดการหยุดขาย ซึ่งจะมีผลกระทบต่อรายได้และมีความเสี่ยงจนถึงไตรมาส 1 ปี 2565 และกลับมาเป็นปกติได้ในปี 2565 หลังจากที่ประกาศหยุดขายกรมธรรม์ สิ้นสุดการคุ้มครองประมาณเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2565
“ผลกระทบหลักๆ จะอยู่ที่บริษัทประกันขนาดเล็ก เพราะการขายประกันปกติทั่วไป จะมีการตั้งประกันความเสี่ยงอยู่แล้ว หากมีการเคลมก็ไม่มีปัญหาอะไร และบริษัทใดเริ่มขายประกันโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก หรือเรียกว่าเท่าทุน เพราะในปี 2563 ยอดการเคลมประกันไม่สูง และมีรายได้จากการขายค่อนข้างมาก” นายมงคลกล่าว
ทั้งนี้ มองว่า หุ้นกลุ่มประกันภัยได้สะท้อนกับข่าวลบไปแล้ว ซึ่งเป็นโอกาสในการกลับเข้ามาซื้อลงทุนได้ แต่จะเน้นในหุ้นขนาดใหญ่ที่ไม่มีปัญหา เพราะมีธุรกิจทั้งประกันภัยและประกันชีวิต เช่น บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (BLA) และบริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (TIPH) และควรเลี่ยงลงทุนหุ้นที่เปิดเผยปัญหาชัดเจน จากที่ผ่านมาได้แจ้งยกเลิกกรมธรรม์ ซึ่งมีผลต่อจิตวิทยาแน่นอน
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,716 วันที่ 23 - 25 กันยายน พ.ศ. 2564