วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 ผู้ถือหุ้นธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)หรือ SCB จะต้องตัดสินใจครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ในการอนุมัติปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของธนาคารแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อก้าวสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยีหรือ Tech Company ตามเป้าหมายที่นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร SCB ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ต้องปรับตัวจาก Finance Market สู่ Technology Company ภายใน 3-5 ปี
มติที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) SCB เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 จึงถือเป็นก้าวแรกในก้าวเข้าสู่บริษัทเทคโนโลยี ด้วยการอนุมัติแผนปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจการเงินไทยพาณิชย์ ด้วยการจัดตั้งบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน)หรือ SCBX เพื่อประกอบธุรกิจเป็นบริษัทลงทุนหรือ โฮลดิ้งส์ คอมพานี
จากนั้น SCBX จะทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของ SCB จากผู้ถือหุ้นของธนาคาร ด้วยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน เพื่อมาแลกหุ้นในอัตรา 1 หุ้นสามัญของธนาคารต่อ1 หุ้นสามัญของ SCBX และ 1 หุ้นบุริมสิทธิของธนาคารต่อ 1 หุ้นสามัญของ SCBX หากผู้ถือหุ้นไฟเขียวและขั้นตอนการแลกหุ้นเสร็จสิ้นลง SCBX จะเข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แทนหลักทรัพย์ของธนาคารที่จะถูกเพิกถอนออกไป แต่จะยังใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์เป็น SCB
นอกจากนั้น ผู้ถือหุ้นยังต้องอนุมัติโอนย้ายบริษัทย่อยในกลุ่มของธนาคารที่มีมูลค่ากว่า 19,504 ล้านบาทให้กับ SCBX พร้อมๆกับอนุมัติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลกว่า 70,000 ล้านบาทให้ SCBX ซึ่งเกือบ 70% จะใช้ในกระบวนการโอนย้ายบริษัทย่อย การลงทุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆที่อยู่ในคิว ทั้งที่ปิดดีลแล้วและจะเกิดขึ้นในช่วงต่อไป ส่วนที่เหลืออีกราว 30% จะเก็บไว้เป็นทุนหมุนเวียน
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ" ว่า SCBX จะเป็นยานแม่ หรือ New Mother Ship ในการจะนำพา SCB ไปสู่บริบทของโลกใหม่ โดยแบ่งการประกอบธุรกิจเป็น 2 ส่วนคือ 1. ธุรกิจธนาคารดั้งเดิม (Cash Cows) และ 2.การเติบโต (Growth) ซึ่งแบ่งพื้นที่เติบโตเป็น 2 พื้นที่คือ การทำตลาดใหม่ที่กำลังเติบโต (Blue Oecan) ทั้งในและต่างประเทศ โดยเน้นในระดับภูมิภาค 3 ประเทศ อินโดนีเซีย เวียดนามและฟิลิปปินส์ และเน้น Digital financial service
ส่วนการเติบโตในพื้นที่สองคือ ขยายหรือสร้างแพลตฟอร์ม (Platform ecosystem) ทั้งในและต่างประเทศควบคู่กับการมุ่งสู่สินทรัพย์ดิจิทัลหรือ Digital Asset เพื่อเพิ่มมูลค่าของแพลตฟอร์มหรือทรัพย์สินที่จะเข้าไปลงทุน ผ่านบริษัท SCB 10x และบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์หรือ SCB security (SCBS)
ขณะเดียวกันยังมองหาโอกาสเติบโตทางธุรกิจจะโฟกัสบนการสร้าง Infrastructure เช่น เรื่อง Exchange และเรื่อง Digital Asset Custodian
“การเติบในแบบที่ 1 จะเป็นรูปแบบที่คุ้ยเคย การคาดหวัง Quality earning จาก Venture หรือ Company เหล่านี้ จะเกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีจากนี้ แล้วจะมาเป็นส่วนเสริมในการเพิ่ม Profitability กรุ๊ปในมิติของรายได้หรือมิติของผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น ขณะที่การเติบโตในแบบที่สองเป็นเรื่องของการเพิ่มมูลค่าของแพลตฟอร์ม หรือสิ่งที่เราเข้าไปลงทุนถือหุ้นใน Digital Asset”นายอาทิตย์กล่าว
นายอาทิตย์กล่าวต่อว่า การปรับโครงสร้างครั้งนี้ เกิดจากช่วง 5-6 ปี ที่ธนาคารมุ่งเน้น Transformation และกลับหัวตีลังกา “Going Upside Down” เพื่อทำให้ทั้งกลุ่มเติบโตและสามารถแข่งขันได้ในระยะยาว แต่ผ่านมา 4-5 ปีพบว่า การจะเอาทุกอย่างอยู่ภายใต้ธนาคารนั้น มีข้อจำกัดทำให้ศักยภาพของกลุ่มทำได้ไม่เต็มที่
ดังนั้นจึงปรับจินตรการใหม่ ไม่ต้องพูดถึงธนาคาร เพราะธนาคารจะทำเหมือนเดิม เน้นให้รักษาผลกำไร ลดต้นทุนด้วยการปรับกระบวนการทำงาน ไม่เน้นปล่อยสินเชื่อใหญ่ หรือทำธุรกิจเทรดหรือรายย่อย ทำให้ธนาคารทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ขณะที่ SCBX ซึ่งเน้นการเติบโตจากแต่ละบริษัท โดยเบื้องต้นมี 15-16 บริษัท โดย SCBX จะส่งกรรมการไปนั่งเป็นบอร์ดซีอีโอทุกคนจะเป็นเถ้าแก่และสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมา แต่ละบริษัทรายงานผลดำเนินงานตรงต่อบอร์ด ทำไม่เหมือนเดิมและไม่ดีสรัปชั่นธนาคาร โดยความตั้งใจ เพื่อสร้างภาพจำความขลังของธนาคารให้คงอยู่อย่างแข็งแรงต่อไป แต่คนจะเริ่มรู้จัก SCB Group อีกด้านในฐานะของตระกูล X
“เราไม่ได้เปลี่ยนแบงก์ แต่เป็นการทำให้แบงก์ขึ้นไปอยู่เหนือแบงก์ เพราะฉะนั้นแบงก์ยังคงทำเหมือนเดิม แต่ที่ไม่เหมือนเดิมคือ SCBX ในความหมายเป็นตัวเลข ยกกำลังสู่การเติบโตแบบก้าวกระโดดและจะต่างจาก SCB10X ที่เติบโตคุณ 10เท่า” นายอาทิตย์กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากทำสำเร็จ SCBX ในฐานะยานแม่ที่จะขับเคลื่อน Growth และ Cash Cows เดินต่อไปอย่างแข็งแรงและบริษัทต่างๆที่จะเติบโตขึ้นมาสร้างรายได้คุณภาพและทุนให้กับSCBX เบื้องต้นจะมี 15-16 บริษัท และยังอยู่ในท่อจะทยอยออมาเป็นจำนวนมากพอสมควร ถ้าเราทำสำเร็จใน 5 ปีข้างหน้า จะมีฐานลูกค้า 200 ล้านคนจากปัจจุบันรวมพาร์ทเนอร์มีอยู่ 50 ล้านคน และเพิ่ม Quality earning ได้ 1.5-2 เท่าและมาร์เก็ตแคปของ SCBX ในปีที่ 5 น่าจะขึ้นไป 1 ล้านล้านบาทนี่คือ เป้าหมายและเป็นสิ่งที่เราทั้งกรุ๊ปภายใต้การนำของ SCBX
สำหรับวิสัยทัศน์ใหม่ของ SCBX คือ: The Most Admired Financial Technology Group In Asian และพร้อมยกระดับเป็น International Player เพื่อทำให้แพลตฟอร์มรองรับecosystem ทั้งในและต่างประเทศ และพันธกิจของ SCBX คือ To Make Finance simple, accessible and affordable for all through the power of Technology and Innovations
ทั้งนี้บทบาทของ SCBX ใน 4 เรื่องหลัก คือ
1.การสร้างธุรกิจใหม่ (Business Development) โดยจัดตั้งทีมทั้งในและทีมระหว่างประเทศ ในการที่จะบุกหรือสแกนหาโอกาสทั้ง Blue Ocean และระบบแพลตฟอร์มและเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล โดยใช้ทีมงานที่มีขีดความสามารถและทำงานใกล้เคียงกับ Private Equity
2.การบริหารจัดการเงินทุน และจัดสรรทุน(Capital Management) เพื่อสร้างธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
3.เร็วนี้จะจัดตั้งบริษัท Data X เป็นศูนย์กลางในการจัดการข้อมูลทั้งกรุ๊ป(Data Integration) เพื่อสร้างขีดความสามารรถในการทำงานควบคู่กับบริษัทที่เกิดขึ้นมาใหม่ในBlue Ocean ไม่ว่าจะเป็น CARD X หรืออีกหลายบริษัท
4.เป็นศูนย์รวมในการเพิ่มประสิทธิภาพและแนวปฎิบัติ( Optimize Group Compliance) การขับเคลื่อนบทบาทไปข้างหน้า พร้อมกับการสร้างแนวปฎิบัติแนวกำกับในทุกมิติ
สำหรับเป้าหมายชุดแรกเหมือนม้าเร็วที่เห็นผลช่วง 3 ปี โดยออก IPO ในปีที่ 3-5 เพื่อเสริมรายได้ให้กับ SCBX จากนั้นจะเป็นเฟสช่วง 4-5 ปีจะเป็นพวก Platform และ Digital Asset จะมาในเชิง Value Creation จะเป็นเฟสต่อไป
นายอาทิตย์กล่าวถึงเป้าหมายของการเป็นบริษัทเทคโนโลยีว่า หากแยกฝั่ง Cash Cows ออกไปแล้ว ในส่วนของ Growth ถือว่าเป็น Tech Company เกินครึ่งแล้ว เห็นได้จากบริษัท SCB Abacus, Monix, SCB Tech ซึ่งบริษัทเหล่านี้ ทั้งรูปแบบโมเดลธุรกิจแบบใหม่ การบริหารจัดการ หรือการระดมทุนเป็น Future Company หรือ เทค คอมพานี 100%แล้ว
สำหรับม้าเร็วชุดแรก เนื่องจาก บริษัท Card X เป็นขั้นตอนโอนย้ายธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งเห็นช่องทางทำกำไรอยู่แล้วผู้บริหารจะรู้ไซส์ของสินเชื่อ และปริมาณเอ็นพีแอลเพื่อจะทำ IPO ได้ โดยตั้งเป้าหมายออก IPO ในปี 2567
นอกจากนี้ ลูกค้าโอนย้ายอกมาจะมีรายได้เกิน 30,000บาท จึงแตกต่างจาก AISCB ที่ฐานลูกค้ารายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท เช่นเดียวกับ AutoX ที่พร้อมดำเนินธุรกิจไตรมาสแรกปีหน้า รูปแบบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ คล้าย เมืองไทยลิสซิ่ง ติดล้อ ศรีสวัสดิ์ เป็นการสร้างพอร์ตขึ้นมาใหม่ เบื้องต้นให้ซีอีโอคิดโจทย์หาวิธีและเข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันมีความพร้อมและปักหมุดจองพื้นที่ชุมชนที่หนาแน่น เพื่อล็อคออฟฟิตทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ตลาดอยู่ต่างจังหวัด เบื้องต้นเริ่มทำตลาด 2,000ส าขาหรือเอ้าท์เล็ตทีมละประมาณ 2-3 คน
ทั้งนี้จุดตั้งต้นของ SCBX ไม่ว่าจัดตั้งธุรกิจใหม่ หรือขยายธุรกิจธุรกิจด้วยการร่วมทุนบริษัทเกือบทั้งหมด บางส่วนจะไม่นำเข้าตลาดหลักทรัพย์ ไม่ว่า JV หรือ SCBX ถือหุ้น 100% โดยซีอีโอทุกคนของแต่ละบริษัทจะมีอิสระในการขับเคลื่อนธุรกิจ ภายใต้แนวทางที่วางโครงสร้างใหม่และมีแรงจูงใจ ทำให้ผู้บริหารระดับสูงของทุกบริษัทเหมือนเป็นเถ้าแก่น้อยในการนำพาบริษัท ระดมทุนหรือขยายกิจการในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นทิศทางสู่บริษัทจดทะเบียนใน 3-5 ปีข้างหน้า
"ไม่ว่าจะเปลี่ยนโครงสร้างในรูปแบบของการทำธุรกิจ ภายใต้การนำของ SCBXซึ่งเป็นองค์กรของไทยสามารถมีบทบาทในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศโดยยังคงมุ่งเน้นเความยั่งยืน ด้วยธรรมาภิบาลสูงสุด แบ่งปันสังคม คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเพื่อรักษาโลกสู่ลูกหลานรุ่นต่อรุ่น เหล่านี้ยังคงเป็นวัฒนธรรมองค์กร(Core Value)"นายอาทิตย์กล่าว
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,717 วันที่ 26 - 29 กันยายน พ.ศ. 2564