รายงานจาก บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ฟิทช์ฯได้ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (national long-term rating) ของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CP ALL เป็นลบ จากมีเสถียรภาพ และคงอันดับเครดิตดังกล่าวที่ A-(tha) โดยแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ สะท้อนถึงการลดลงของอัตราส่วนหนี้สินของ CP ALL ที่ล่าช้า จากมาตรการปิดเมือง (lockdown) ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2564 อันเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19
รวมถึงความเสี่ยงจากข้อจำกัดการเดินทางที่ยังคงมีอยู่และการฟื้นตัวของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่อ่อนแอ ซึ่งอาจทำให้การลดลงของอัตราส่วนหนี้สินในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้าล่าช้าออกไป
ทั้งนี้ ฟิทช์ฯคาดว่ารายได้ของ CP ALL จะลดลงในอัตรา 2-3% ในปี 2564 (จากเดิมที่เคยคาดไว้ว่าจะเติบโตในอัตรา 7-8%) และคาดว่าจะเติบโตได้ในอัตราประมาณ 6% ในปี 2565 การระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกที่ 3 ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2564 และระลอกที่ 4 ในเดือน ก.ค. 2564 ซึ่งตามมาด้วยการใช้มาตรการปิดเมืองในช่วงกลางเดือน ก.ค. ถึงสิ้นเดือน ส.ค. 2564 ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของผลประกอบการของ CP ALL ในปี 2564 เป็นอย่างมาก
ซึ่งฟิทช์ฯเชื่อว่าข้อจำกัดในการเดินทางและการดำเนินธุรกิจบางส่วนที่อาจยังคงมีอยู่หรือมีการประกาศใช้อีกเป็นครั้งคราว อาจเป็นแรงกดดันต่ออัตราการฟื้นตัวในช่วงที่เหลือของปี 2564 และในปี 2565
ด้านยอดขายของร้าน 7-Eleven ฟิทช์ฯคาดว่าจะลดลง 4-5% ในปี 2564 เนื่องจากจำนวนคนเข้าร้านได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดเมืองในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2564 รวมถึงมาตรการการทำงานที่บ้าน (work from home) ที่นำกลับมาใช้อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ฯคาดว่าจำนวนคนเข้าร้านจะค่อย ๆ ฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2564 จากการผ่อนคลายมาตรการการจำกัดการเดินทางต่าง ๆ
นอกจากนี้ ยอดขายทางออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นก็น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวในปี 2565 ทั้งนี้ ฟิทช์ฯคาดว่าการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ น่าจะเริ่มมีการฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2565
ส่วนธุรกิจค้าส่งของบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO ในปี 2564 น่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากยอดขายที่ลดลงของกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจจัดเลี้ยง (horeca) น่าจะได้รับการชดเชยบางส่วนจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากช่องทางออนไลน์และจากลูกค้าประเภทครัวเรือน ซึ่งหันมาทำอาหารรับประทานเองที่บ้าน รวมถึงมีความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความสะอาดปลอดภัยของอาหารจากการรับประทานอาหารนอกบ้านและการซื้ออาหารในตลาดสด
ทั้งนี้ ฟิทช์ฯได้ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (national long-term rating) ของ MAKRO เป็นลบ จากมีเสถียรภาพ และคงอันดับเครดิตดังกล่าวที่ “A-(tha)” ในขณะเดียวกันฟิทช์ฯประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (national short-term rating) ของ Makro ที่ “F2(tha)” ทั้งนี้ การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตและการคงอันดับเครดิตของ MAKRO เป็นไปตามการปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทแม่ หรือ CP ALL เป็นลบ จากมีเสถียรภาพ
อย่างไรก็ดี อันดับเครดิตของ MAKRO ยังคงสะท้อนถึงสถานะผู้นำทางการตลาดของ CP ALL ในธุรกิจค้าปลีกประเภทอาหารของประเทศไทย ด้วยส่วนแบ่งตลาดร้านสะดวกซื้อประมาณ 60% โดยวัดจากจำนวนร้านค้า.