นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยถึงโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป ว่า บุหรี่ที่จำหน่ายราคาไม่เกินซองละ 72 บาท จะเสียภาษีในอัตรา 25% และปริมาณ 1.25 บาทต่อมวน ส่วนบุหรี่ที่จำหน่ายราคาเกินกว่า 72 บาทขึ้นไป จะเสียภาษีในอัตรา 42% และปริมาณ 1.25 บาทต่อมวน ขณะที่ภาษียาเส้น ใช้อัตราเดิม คือ ปริมาณการผลิตไม่เกิน 12,000 กิโลกรัมต่อปี จะเสียภาษีในอัตรา 25 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าปริมาณการผลิตเกิน 12,000 กิโลกรัม จะเสียภาษีในอัตรา 100 บาทต่อกิโลกรัม
ทั้งนี้เมื่อคำนวณตามอัตราภาษีใหม่แล้ว จะทำให้ต้นทุนภาษีปรับเพิ่มขึ้น 4-5 บาทต่อซอง จึงคาดว่าราคาขายปลีกบุหรี่ซอง 60 บาท อาจขึ้นไปเป็น 66 - 72 บาท/ซอง แต่สุดท้ายจะขึ้นจริงเท่าไรต้องรอผู้ประกอบการแจ้งเข้ามา ซึ่งในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ ผู้ประกอบการจะต้องมีการยื่นแสดงต้นทุนและราคาขายมายังกรมฯ เพื่อให้พิจารณาอนุญาตก่อน ดังนั้น ในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ บุหรี่ที่ขายปลีกตามท้องตลาดจะยังคงเป็นบุหรี่จากสต๊อกเก่าที่เสียภาษีในอัตราเดิมก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ซึ่งหากพบว่ามีการขายเกินราคา สามารถแจ้ง สคบ. หรือ กรมสรรพสามิต หมายเลข 1713 หากตรวจพบว่าแจ้งภาษีเป็นเท็จ มีโทษปรับภาษีเพิ่มขึ้น 2 เท่า และเงินเพิ่มอีก 7.5% แต่ถ้าเป็นร้านค้าปลีกขายเกินราคาจะมีการตักเตือน หากไม่เชื่อฟังก็อาจต้องยึดใบอนุญาต ทั้งนี้ตั้งแต่เที่ยงคืนของวันที่ 1 ตุลาคม 64 กรมสรรพสามิตจะส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบสต๊อกบุหรี่คงค้างของผู้ประกอบการ เพื่อป้องกันการกักตุนเพื่อฉวยโอกาสขึ้นราคา
“ในช่วง1-2 สัปดาห์นี้ จะเป็นช่วงผู้นำเข้าและผู้ผลิต ต้องยื่นแสดงต้นทุนและราคาขายตามโครงสร้างภาษีใหม่ มาให้กรมพิจารณา ดังนั้นในช่วงเวลาดังกล่าว บุหรี่ที่จำหน่ายในท้องตลาดจะต้องเป็นราคาเดิม หากพบการขึ้นราคา จะถือว่าเป็นการขายราคาไม่ตรงกับต้นทุนที่แจ้งไว้ โดยผู้ซื้อสามาถตรวจสอบบุหรี่ที่ซื้อได้ด้วยตัวเอง ผ่านคิวอาร์โค้ดบนดวงแสตมป์ ซึ่งจะแสดงรายละเอียดของการเสียภาษี หากเสียภาษีก่อนวันที่ 1 ต.ค.2564 ถือเป็นบุหรี่สต๊อกเก่าทั้งหมด จะต้องขายบุหรี่ราคาเดิมเท่านั้น หากขายเกินราคา ก็จะมีบทลงโทษทั้งผู้ประกอบการและร้านค้าปลีก” นายลวรณ กล่าว
อธิบดีกรมสรรพสามิต ยังย้ำว่าโครงสร้างภาษีใหม่ ตอบโจทย์ ทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านสุขภาพ เพราะราคาที่สูงอาจะช่วยทำให้การสูบบุหรี่ลดลง 2% - 3% ด้านการดูแลเกษตรกร คือ โครงสร้างภาษีใหม่ส่งผลดีต่อการแข่งขันของบุหรี่ในประเทศ เนื่องจากช่องว่างระหว่างบุหรี่ราคาถูกและราคาแพงจะมีมากขึ้น ทำให้ความต้องการซื้อใบยาสูบจากเกษตรกรเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ยังทำให้กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีบุหรี่ได้เพิ่มขึ้น ประมาณ 3,500 – 4,500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งส่งผลดีต่อรายได้ของกรมฯ แต่อย่างไรก็ตามแม้ราคาที่ปรับขึ้น อาจทำให้บุหรี่เถื่อนเพิ่มขึ้นตาม แต่กรมฯ จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปราบปรามอย่างเข้มงวดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า โครงสร้างภาษีบุหรี่แบบอัตราเดียวเป็นโครงสร้างที่มีความเหมาะสมมากกว่า เพราะจะสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขัน แต่หากจะมีการปรับโครงสร้างภาษีจากเดิม 20% เป็น 40% ในขณะนี้ อาจยังไม่เหมาะสม ซึ่งในที่ประชุม ครม. ยังได้ย้ำให้กรมสรรพสามิต เดินหน้าศึกษาโครงสร้างภาษีบุหรี่แบบอัตราเดียว รวมทั้งศึกษาช่วงเวลาการนำมาใช้ที่เหมาะสม หรือ ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจเอื้ออำนวย
นอกจากนี้ ครม. ยังมอบหมายให้สรรพสามิตประสานการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) และสำนักงบประมาณ เพื่อจ่ายเงินชดเชยให้แก่เกษตรกรผู้เพาะปลูกยาสูบและผู้บ่มอิสระ ตามกรอบวงเงินที่ ครม.ได้อนุมัติ 159.59 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เพาะปลูกยาสูบและผู้บ่มอิสระ 14,200 ราย รวมทั้งให้ ยสท. ไปศึกษาแนวทางการส่งเสริมปลูกพืชทดแทนยาสูบ และให้ สสส. เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมองค์ความรู้การเปลี่ยนผ่านสู่การปลูกพืชอื่น หรือ อาชีพอื่นให้กับเกษตรกร