กยศ. เสนอแก้ไขกฎหมาย ช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มผู้ถูกดำเนินคดี

09 ต.ค. 2564 | 11:05 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ต.ค. 2564 | 18:16 น.

กยศ. ชี้แจงกรณี ความเดือดร้อนลูกหนี้กองทุน 2 ราย ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา ที่ผิดนัดชำระหนี้และถูกบังคับคดี หลังผ่อนชำระพบหนี้เงินต้นไม่ลด ระบุเหตุเพราะดอกเบี้ยปรับคงค้างเยอะ เผยกองทุนกำลังดำเนินการเสนอแก้ไขกฎหมาย เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มที่ถูกดำเนินคดี

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบข้อมูลของลูกหนี้ทั้ง 2 ราย พบว่า ผู้กู้ยืมรายแรกได้กู้ยืมเงินกองทุนตั้งแต่ปี 2541 มียอดหนี้เงินกู้ทั้งสิ้น 145,600 บาท เมื่อถึงกำหนดชำระหนี้ผู้กู้ได้ชำระหนี้เพียง 3 ครั้ง จำนวนรวม 4,480 บาท ต่อมาในปี 2551 กองทุนจำเป็นต้องดำเนินคดี ซึ่งผู้กู้ยืมได้มาทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาล โดยตกลงผ่อนชำระเป็นรายเดือนๆ ละ 1,600 บาท แต่หลังจากทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ผู้กู้ยืมมิได้ผ่อนชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมแต่อย่างใด  

ต่อมาหลังจากพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับ กองทุนจึงได้ดำเนินการแจ้งหักเงินเดือนผู้กู้ยืม ผ่านองค์กรนายจ้างเพื่อนำมาตัดชำระหนี้ที่ค้าง ปัจจุบันผู้กู้รายนี้มียอดเงินต้นคงเหลือ 144,498 บาท พร้อมดอกเบี้ยและเบี้ยปรับอีกจำนวนหนึ่ง  

สำหรับผู้กู้ยืมรายที่ 2 ได้กู้ยืมเงินกองทุนตั้งแต่ปี 2539 มียอดหนี้เงินกู้ทั้งสิ้น 340,500 บาท เมื่อถึงกำหนดชำระหนี้ผู้กู้ได้ชำระหนี้เพียงครั้งเดียวในปี 2548 จำนวน 2,000 บาท ต่อมา ผู้กู้ยืมได้เข้าร่วมโครงการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องในปี 2552 แต่ไม่ได้ชำระหนี้เลย จนกระทั่งปี 2561 ผู้กู้ยืมได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาล โดยตกลงผ่อนชำระเป็นรายเดือนๆ ละ 6,900 บาท ซึ่งผู้กู้ยืมก็ไม่ได้ชำระหนี้แต่อย่างใด ต่อมากองทุนได้ดำเนินการหักเงินเดือนผู้กู้ยืมผ่านองค์กรนายจ้าง เพื่อนำเงินมาตัดชำระหนี้ ปัจจุบันผู้กู้รายนี้มียอดเงินต้นคงเหลือ 338,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยและเบี้ยปรับอีกจำนวนหนึ่ง 

กยศ. เสนอแก้ไขกฎหมาย ช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มผู้ถูกดำเนินคดี

เงินที่ได้รับจากการหักเงินเดือนของลูกหนี้ทั้งสองราย ได้นำมาตัดชำระเบี้ยปรับและดอกเบี้ยก่อน แต่เนื่องจากมีการค้างชำระหนี้เป็นระยะเวลานานจึงส่งผลให้เกิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับค้างจ่ายจำนวนมาก ทำให้ยังตัดไม่ถึงยอดหนี้เงินต้น ซึ่งกองทุนอยู่ในระหว่างการพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มที่ถูกดำเนินคดีในลักษณะนี้ ด้วยการเสนอขอแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 เพื่อให้กองทุนสามารถดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้หรือแปลงหนี้ใหม่กับลูกหนี้ตามคำพิพากษาของกองทุน ที่ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้กู้ยืมสามารถตกลงผ่อนชำระหนี้ให้แก่กองทุน ในจำนวนและระยะเวลาที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ได้ในอนาคต

กยศ. เสนอแก้ไขกฎหมาย ช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มผู้ถูกดำเนินคดี

ที่ผ่านมากองทุนได้กำหนดเงื่อนไขที่ผ่อนปรนในการชำระคืน โดยไม่คิดดอกเบี้ยในระหว่างการศึกษาและให้ระยะเวลาปลอดหนี้ 2 ปีหลังจากสำเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษา โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1% ของเงินต้นคงเหลือ และให้ผ่อนชำระได้ 15 ปี กำหนดอัตราผ่อนชำระเงินต้นจากน้อยไปมากแบบขั้นบันได และเริ่มคิดดอกเบี้ยในงวดชำระปีที่ 2 เป็นต้นไป ดังตัวอย่างตารางการผ่อนชำระหนี้ 15 ปี จากเงินต้น 100,000 บาท ในปีแรกจะชำระเพียง 1,500 บาท หรือเดือนละ 125 บาท จนถึงปีสุดท้ายให้ผ่อนชำระ 13,000 บาท หรือเดือนละ 1,095 บาท หากมีการค้างชำระหนี้ กองทุนจะคิดเบี้ยปรับ 7.5% ของงวดที่ค้างชำระ

ทั้งนี้ กองทุนขอยืนยันว่ากองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐ ที่ให้โอกาสทางการศึกษาเพื่อสร้างทุนมนุษย์ และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้กู้ยืมเงินที่ขาดโอกาสมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันกองทุนมิได้ใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน แต่ใช้เงินหมุนเวียนที่ได้รับชำระหนี้จากผู้กู้ยืมที่มีความรับผิดชอบในการชำระคืน เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษารุ่นน้องต่อไป