กบข.ชี้ โควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ฉุดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

18 ต.ค. 2564 | 14:11 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ต.ค. 2564 | 21:11 น.

กบข. มองเศรษฐกิจโลก ไตรมาส 4 เติบโตแบบชะลอลง หลังการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ส่งผลเห่วงโซ่อุปทานชะงัก กระทบการผลิต แถมก่อปัญหาเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น แนะทยอยลดสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยง

ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)เปิดเผยว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวเป็นบวก แต่ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 3 ต่อเนื่องถึงไตรมาสที่ 4 ซึ่งมีสาเหตุมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ทำให้เกิดปัญหา Supply Chain Disruption หรือ ห่วงโซ่อุปทานเกิดภาวะชะงักงัน ทั้งในภาคผลิต ภาคบริการ และตลาดแรงงาน มีความยืดเยื้อมากขึ้นและยังเป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงเกินกว่าการคาดการณ์ทั่วไปรวมถึงเป้าหมายเสถียรภาพราคาของธนาคารกลางหลัก ๆ

ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

 

อีกทั้งยังสร้างความกังวล  Stagflation หรือ ภาวะที่อัตราเงินเฟ้อสูง แต่เศรษฐกิจไม่ขยายตัว ส่งผลให้ธนาคารกลางของประเทศขนาดใหญ่เริ่มมีท่าทีเข้มงวด รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่เริ่มแสดงประมาณการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ในปีถัดๆ ไป เร็วกว่าที่ตลาดประเมิน นอกจากนี้ ความเข้มงวดของรัฐบาลจีนในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน และปัญหาหนี้ภาคธุรกิจในจีนได้สร้างความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกในระยะสั้น

จากความเสี่ยงต่างๆ ข้างต้น จะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง แต่จะไม่ชะงักงัน ทำให้ความน่าจะเป็นที่จะเกิดภาวะ Stagflation ยังมีไม่มากนัก แต่หลายภาคส่วนต้องใช้เวลาฟื้นตัวมากกว่าที่คาด เพื่อกลับเข้าใกล้เคียงระดับปกติ พิจารณาจากหลายองค์ประกอบ เช่น อัตราผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับการระบาดแต่ละระลอกที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีอัตราการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรได้เป็นส่วนใหญ่ และการเร่งฉีดวัคซีนในประเทศกำลังพัฒนาในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา

 

แนวโน้มการเคลื่อนที่(Mobility Trends) ของผู้คนทั่วโลกที่โดยรวมแล้วทรงตัวได้ค่อนข้างดีท่ามกลางการระบาดของโควิด-19  ในระลอกหลัง ความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อโลกและเศรษฐกิจหลัก ที่เริ่มทรงตัว แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง เป็นผลมาจากปัญหาด้านอุปทานตึงตัวที่น่าจะผ่อนคลายขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ดีขึ้น

 

แม้ว่ายังมีความกังวลจากการปรับตัวกลับเข้าใกล้ภาวะปกติที่ต้องใช้เวลาพอสมควรของการผลิตสินค้าที่ต้องใช้ semiconductor ที่กำลังขาดตลาด และผลจากอุปสงค์โลกโดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีแนวโน้มชะลอลง สอดคล้องกับวัฏจักรเศรษฐกิจที่การขยายตัวถึงจุดสูงสุดไปแล้วในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ที่ผ่านมา

ส่วนประเด็นเศรษฐกิจจีนนั้น กบข. ประเมินว่า การดำเนินการเข้มงวดด้านนโยบายและจัดระเบียบในหลาย ๆ อุตสาหกรรม (Regulatory Crackdown) เพื่อความยั่งยืนและความมั่งคั่งรวมกัน ( Common Prosperity) ยังคงมีต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงในระยะยาว แม้ว่าจะกระทบเชิงลบระยะสั้น และจากปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทในภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งเอเวอร์แกรนดด์

 

กบข. คาดว่า รัฐบาลจีนอาจเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งธนาคารกลางจีน (PBoC) เสริมสภาพคล่องในช่องทางต่าง ๆ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในระบบการเงิน

 

สำหรับเศรษฐกิจไทย มีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าประเทศคู่ค้า แต่เชื่อว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะไม่กลับมารุนแรง อีกทั้งดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) อาจกลับมาเกินดุลได้ในปี 2565 หลังการเปิดประเทศในช่วงปลายปี 2564

 

ด้านมุมมองต่อการลงทุนและจัดสรรสินทรัพย์ การทยอยลดสัดส่วนการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะตราสารทุนอย่างระมัดระวังมีความเหมาะสม ซึ่งสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตช้าลงต่อเนื่อง ความเสี่ยงเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และนโยบายของ Fed ที่จะทยอยลดการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าในระบบ

 

อย่างไรก็ดี ระบบการเงินยังมีสภาพคล่องในระดับสูงและกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มขยายตัวเป็นบวก หนุนให้คงระดับการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงไม่ต่ำกว่าสัดส่วนผลประเมินความเหมาะสมในการรับความเสี่ยงของนักลงทุน (Suitability Test) รวมทั้งการถือครองสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงมีประโยชน์ในการป้องกันความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อที่ยังไม่มีสัญญาณผ่อนคลายได้

 

นอกจากนี้ กบข. คาดว่า อัตราดอกเบี้ยระยะยาวอายุ 10 ปีของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ณ สิ้นปี 2564  จะอยู่ที่ประมาณ 1.6% ซึ่งประเมินจากอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ติดลบในปัจจุบัน อยู่ในระดับที่ต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับสภาวะเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ระดับสูง

 

ส่วนค่าเงินบาท กบข. ประเมินว่า ช่วงที่เหลือของปี 2564 แกว่งตัว แต่จะอ่อนค่าได้ไม่น่าเกินประมาณ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้เมื่อเข้าสู่ครึ่งแรกของปี 2565 จากการที่หลายประเทศตลาดเกิดใหม่น่าจะกลับมาฟื้นตัวและขยายตัวได้ดีกว่าประเทศตลาดเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว