อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “แข็งค่า” ที่ระดับ 33.25 บาท/ดอลลาร์

25 ต.ค. 2564 | 00:15 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ต.ค. 2564 | 10:33 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังมีแนวโน้ม “แข็งค่า” ตามฟันด์โฟลว์ไหลเข้าหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงแรงขายทำกำไรทองคำ หากราคาปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.25 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่า”ขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.37 บาทต่อดอลลาร์ (ณ สิ้นวันที่ 21 ตุลาคม)

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นได้ ตามฟันด์โฟลว์ไหลเข้าหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงแรงขายทำกำไรทองคำ หากราคาทองคำปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ เงินบาทจะไม่แข็งค่าไปมาก เนื่องจากเราเริ่มเห็นผู้นำเข้าทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือน โดยแนวรับเงินบาทยังคงอยู่ในโซน 33.00-33.10 บาทต่อดอลลาร์

 

ส่วนในมุมแนวโน้มเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์มีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways แต่อาจอ่อนค่าลงตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้ ทั้งนี้ ปัญหาเงินเฟ้อที่ทำให้ตลาดคาดหวังว่าเฟดอาจใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเร็วกว่าคาด จะช่วยพยุงให้เงินดอลลาร์ไม่อ่อนค่าไปมาก นอกจากนี้ หาก ECB ยังไม่ได้ส่งสัญญาณเร่งรีบใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดก็อาจกดดัน.เงินยูโร (EUR) และช่วยพยุงเงินดอลลาร์ได้

 

นอกจากนี้ ในเชิงเทคนิคัล เงินบาทยังมีแนวต้านสำคัญอยู่ในโซน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่บรรดาผู้ส่งออกต่างรอเข้ามาทยอยขายดอลลาร์ อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทในระยะสั้นยังมีความผันผวนอยู่สูง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติยังคงมีมุมมองที่เชื่อว่า เงินบาทยังสามารถอ่อนค่าแตะระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์ได้อยู่ ทำให้ผู้เล่นกลุ่มดังกล่าวยังคงรอจังหวะเข้ามา Short เงินบาท (เก็งกำไรว่าเงินบาทจะอ่อนค่า)

 

ทั้งนี้ จุดที่น่าสนใจ คือ ผู้เล่นกลุ่มดังกล่าวอาจมี Stoploss ที่ระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ดังนั้น หากเงินบาทแข็งค่าทะลุระดับดังกล่าว ก็อาจทำให้เห็นโฟลว์ cover short ซึ่งจะยิ่งหนุนให้เงินบาทแข็งค่าได้เร็วในระยะสั้นได้เช่นกัน

 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.00-33.45 บาท/ดอลลาร์

 

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.15-33.30 บาท/ดอลลาร์

 

 

สัปดาห์ที่ผ่านมา รายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ยังคงเติบโตดีกว่าคาด ได้ช่วยหนุนให้ตลาดการเงินโดยรวมยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ต่อ

 

สำหรับสัปดาห์นี้ ตลาดจะจับตาผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป โดยเฉพาะแนวโน้มการปรับมาตรการคิวอี และยังคงติดตามรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนทั่วโลก

 

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

 

ฝั่งสหรัฐฯ – รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 3 จะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมีส่วนช่วยให้ตลาดสามารถเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงต่อได้ นอกจากนี้ ตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะโตเพียง +2.8% จากที่โตกว่า +6.7% ในไตรมาสที่ 2 โดยการชะลอลงของเศรษฐกิจมาจากปัญหาการระบาดที่รุนแรง

 

 

 

ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งตลาดก็คาดว่า เศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวได้ดีขึ้น หลังสถานการณ์ระบาดเริ่มดีขึ้น อย่างไรก็ดี ปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจได้ โดยตลาดจะรอจับตาแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ (PCE) ในเดือนกันยายน ว่าจะมีการเร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามากน้อยเพียงใด ซึ่งหากเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและสินค้าพลังงาน (Core PCE) พุ่งขึ้นมากกว่าที่ตลาดประเมินไว้ที่ระดับ +0.2% จากเดือนก่อนหน้า ก็อาจทำให้ตลาดยังคงกังวลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นและคาดหวังว่า เฟดอาจจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินเข้มงวดได้เร็วกว่าคาด

 

ฝั่งยุโรป – ตลาดประเมินว่าผลกระทบจากการระบาดของเดลต้าในช่วงไตรมาสที่ 3 จะกดดันให้ การเติบโตของเศรษฐกิจยูโรโซนชะลอลงเหลือ +3.5%y/y จากที่โตได้กว่า +14.3% ในไตรมาสที่ 2 ทั้งนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนที่ปัจจุบันยังเผชิญปัญหาด้าน Supply Chain ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงอีกด้วย โดยหากระดับเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง อาจกดดันให้การบริโภคชะลอลงและกดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ได้

 

ทั้งนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มเงินเฟ้อผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือนตุลาคม ซึ่งคาดว่าเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 3.7% หนุนโดยราคาพลังงานที่ปรับตัวขึ้นแรง รวมถึงการฟื้นตัวของการใช้จ่ายหลังสถานการณ์การระบาดไม่ได้น่ากังวลมากนัก นอกจากนี้ ตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยในการประชุมครั้งนี้ ตลาดมองว่า ECB จะคงอัตราดอกเบี้ย Deposit Facility Rate ไว้ที่ระดับ -0.50% และคงปริมาณการทำคิวอีตามเดิม เพื่อช่วยหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

 

อย่างไรก็ดี ตลาดจะจับตามุมมองของ ECB ต่อภาพการฟื้นตัวเศรษฐกิจและการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงอย่างปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นและอาจอยู่ในระดับสูงได้นานกว่าคาด ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างมองว่า ECB จะประกาศแผนปรับการทำคิวอีอย่างชัดเจนในการประชุมเดือนธันวาคม หลังรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจใหม่ก่อน โดย ECB อาจจะพยายามปรับให้การทำคิวอีทยอยลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อลดผลกระทบต่อตลาดการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม

 

ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจญี่ปุ่นหลังจากที่สถานการณ์การระบาดเริ่มดีขึ้นต่อเนื่องจากการเร่งแจกจ่ายวัคซีน ซึ่งตลาดคาดว่า ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนกันยายน จะขยายตัว +1.5% จากเดือนก่อนหน้า หลังจากที่หดตัวกว่า -4.1% ในช่วงที่ญี่ปุ่นเผชิญการระบาดหนัก นอกจากนี้ การทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจะช่วยหนุนแนวโน้มการขยายตัวของการบริโภค

 

อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป เพื่อช่วยพยุงการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ -0.10% พร้อมคงการทำคิวอีและตรึงบอนด์ยีลด์ 10ปี ไว้ที่ระดับ 0.00% ทั้งนี้ นโยบายการเงินของ BOJ ที่ดูจะผ่อนคลายมากกว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่เริ่มจะทยอยลดคิวอี จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ค่าเงินเยน (JPY) ทรงตัวในกรอบ 113 เยนต่อดอลลาร์ได้ แม้เงินดอลลาร์อาจอ่อนค่าลงมาบ้าง

 

 

ฝั่งไทย – ตลาดประเมินว่า ดุลการค้าในเดือนกันยายนมีแนวโน้มขาดดุลต่อเนื่องราว 1 พันล้านดอลลาร์ เนื่องจากยอดการนำเข้า (Imports) ยังคงอยู่ในระดับสูงและโตได้กว่า +35%y/y หนุนโดยราคาสินค้าต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากปัญหา Supply chain disruption รวมถึงราคาสินค้าพลังงานที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องในเดือนกันยายน ขณะที่ ยอดการส่งออก (Exports) จะเริ่มกลับมาฟื้นตัวและขยายตัวราว +12%y/y ตามการฟื้นตัวทั่วโลกหลังสถานการณ์ COVID-19 เริ่มสงบลงและหลายประเทศก็เริ่มทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown

 

ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า  เงินบาทแข็งค่าผ่านแนว 33.20  บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดสัปดาห์ก่อนที่ 33.39 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้น ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ขาดแรงหนุนใหม่ๆ นักลงทุนรอติดตามตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่วัดจาก PCE/Core Price Index ในระหว่างสัปดาห์ นอกจากนี้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ขยับสูงขึ้น ยังกระตุ้นแรงขายเงินดอลลาร์ฯ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย และดอลลาร์แคนาดาด้วยเช่นกัน

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 33.10-33.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ เม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ สถานการณ์โควิดในประเทศ ทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก และข้อมูลดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนต.ค. รายงานโดยสถาบัน Ifo ของเยอรมนี