อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.20 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่า”ลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.12 บาทต่อดอลลาร์มองกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.10-33.25 บาท/ดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ปัจจัยเสี่ยงปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทอสังหาฯ จีน อาจกดดันบรรยากาศการลงทุนในฝั่งเอเชีย ทำให้ เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า ตามแรงขายสินทรัพย์ฝั่งเอเชียที่จะกดดันให้ สกุลเงินเอเชียโดยรวมอาจอ่อนค่าลง
นอกจากนี้ เราเริ่มเห็นว่า โฟลว์ลงทุนหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติเริ่มชะลอลงมาบ้าง เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติอาจรอให้ ปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจจะมีทิศทางดีขึ้นชัดเจน ซึ่งเป็นไปได้ว่านักลงทุนต่างชาติต่างรอแนวโน้มเศรษฐกิจหลังการเปิดประเทศในเดือนพฤศจิกายน
ทั้งนี้ โฟลว์เก็งกำไรทองคำในช่วงนี้ ก็อาจจะมีส่วนช่วยให้เงินบาทผันผวนเช่นกัน โดยหากราคาทองคำปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้ง เราเชื่อว่าจะเห็นแรงขายทำกำไรทองคำเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยให้เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นได้บ้าง (Correlation เงินบาทกับทองคำ อยู่ที่ประมาณ +50% หรือ เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ตามการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ)
แนวต้านสำคัญของเงินบาทยังอยู่ในโซน 33.40 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ส่งออกบางส่วนต่างรอขายเงินดอลลาร์อยู่ ส่วนผู้นำเข้าบางส่วนก็รอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้ เงินบาทยังมีแนวรับสำคัญที่โซน 32.90-33.00 บาทต่อดอลลาร์
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.10-33.25 บาท/ดอลลาร์
ตลาดการเงินโดยรวมยังคงได้รับแรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ต่างออกมาดีกว่าคาด ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นต่างปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ เดินหน้าปรับตัวขึ้นราว +0.2% แตะจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งนอกเหนือจากรายงานผลประกอบการที่ออกมาดีกว่าคาดนั้น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ดีกว่าคาด
ล่าสุด ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board ในเดือนตุลาคม ได้ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 113.8 จุด ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะปรับตัวลดลง สะท้อนว่าการบริโภคในฝั่งสหรัฐฯ ยังคงมีโมเมนตัมการฟื้นตัวที่ดีอยู่ แม้ว่าจะเผชิญแรงกดดันจากระดับราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นก็ตาม
นอกจากนี้ ตลาดอสังหาฯ สหรัฐฯ ก็ยังคงสดใส โดยยอดขายบ้านใหม่ (New Home Sales) ในเดือนกันยายน ยังคงขยายตัวกว่า +14% จากเดือนก่อนหน้า หนุนให้ราคาบ้านรวมถึงค่าเช่ายังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งการปรับตัวขึ้นของราคาบ้านและค่าเช่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ตลาดจะให้ความสนใจเนื่องจากปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงได้นานกว่าคาด
ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX50 รีบาวด์ขึ้นมากว่า +0.85% โดยหุ้นกลุ่ม Cyclical ยังคงสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ ตามความหวังรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน อาทิ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางและธุรกิจการบิน อย่าง Safran +4.4%, Amadeus +3.9%, Airbus +1.7%
ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดยุโรปต่างรอคอยการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันพฤหัสฯ นี้ ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนสถานะถือครองสินทรัพย์ที่ชัดเจนอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี แม้ว่าตลาดการเงินยังคงตอบรับในเชิงบวกกับรายงานผลประกอบการที่ออกมาดีกว่าคาด แต่ปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทอสังหาฯ จีนยังคงมีอยู่ หลังบริษัทพัฒนาอสังหาฯ Modern Land ได้ผิดนัดชำระหนี้บอนด์มูลค่ากว่า 250 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเราคาดว่า ภาพดังกล่าวอาจกดดันบรรยากาศการลงทุนในฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะในฝั่งฮ่องกงและจีนได้
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ แกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 1.62% ซึ่งเรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี ทั่วโลก อาจแกว่งตัว Sideways ในระยะสั้นนี้ เนื่องจากบรรดาผู้เล่นในตลาดอาจรอความชัดเจนของนโยบายการเงินจากบรรดาธนาคารกลาง ซึ่งจะเริ่มจาก ECB ในสัปดาห์นี้ และ เฟด รวมถึง ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ในสัปดาห์นี้ โดยเรายังคงมองว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาวยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อได้
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งและดีกว่าคาด นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดยังเลือกที่จะถือเงินดอลลาร์อยู่จากความกังวลแนวโน้มเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นและอยู่ในระดับสูง รวมถึงปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทอสังหาฯในจีน โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 93.93 จุด ซึ่งการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ได้กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลงมาสู่ระดับ 1,790 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่สกุลเงินหลักอย่างยูโร (EUR) ก็อ่อนค่าลงแตะระดับ 1.16 ดอลลาร์ต่อยูโร และเงินเยน (JPY) ก็อ่อนค่าแตะระดับ 114.20 เยนต่อดอลลาร์
สำหรับวันนี้ ปัจจัยหลักที่จะส่งผลต่อตลาดยังคงเป็นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเรามองว่าผลประกอบการที่ดีกว่าคาดและแนวโน้มการเติบโตของผลกำไรที่โดดเด่นจะช่วยพยุงบรรยากาศการลงทุนให้อยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงได้
ส่วนในด้านข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดจะรอลุ้นรายงานยอดน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ (Crude Inventories) ซึ่งตลาดประเมินว่า อาจเริ่มเห็นการเพิ่มขึ้นของยอดน้ำมันดิบคงคลังกว่า +1.9 ล้านบาร์เรล ทว่าหากยอดน้ำมันดิบคงคลังยังคงปรับตัวลดลง สวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เชื่อว่าภาพดังกล่าวจะสะท้อนความต้องการใช้พลังงานที่สูงกว่ากำลังการผลิตและหนุนให้ราคาน้ำมันดิบสามารถปรับตัวสูงขึ้นต่อได้
ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับ 33.15-33.17 บาทต่อดอลลาร์ฯ ใกล้เคียงระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.12 บาทต่อดอลลาร์ฯ ทั้งนี้เงินบาทกลับมาเคลื่อนไหวในกรอบแคบ โดยยังคงรอปัจจัยใหม่ๆ มากระตุ้น ขณะที่แรงขายเงินดอลลาร์ฯ เริ่มชะลอลง หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ (อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และยอดขายบ้านใหม่) ออกมาดีกว่าที่คาด ประกอบกับตลาดยังคงรอติดตามประเด็นความเปราะบางของตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีน และผลการประชุมนโยบายการเงินของ ECB และ BOJ อย่างใกล้ชิด
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 33.00-33.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ของจีน ทิศทางเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ และสถานการณ์โควิดในประเทศ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ กำไรภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ย. ของจีน และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.ย. ของสหรัฐฯ