thansettakij
อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้"แข็งค่า"ที่ระดับ  33.28 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้"แข็งค่า"ที่ระดับ  33.28 บาท/ดอลลาร์

04 พ.ย. 2564 | 00:56 น.
อัปเดตล่าสุด :04 พ.ย. 2564 | 13:33 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแนวโน้มแข็งค่าขึ้นไม่มาก จับตาโฟลว์ซื้อทองคำจะเป็นแรงกดดันในฝั่งอ่อนค่า -กรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 33.20-33.35 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.28 บาทต่อดอลลาร์ "แข็งค่า"ขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.315 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชวิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นไม่มาก แม้ว่า เงินดอลลาร์จะมีโอกาสอ่อนค่าลงก็ตาม

เนื่องจาก เงินบาทได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาพอสมควรจากช่วงก่อนการประชุมเฟดที่เงินบาทอ่อนค่าแตะระดับ 33.45 บาทต่อดอลลาร์

ขณะที่ เราเชื่อว่าอาจจะเห็นโฟลว์เข้าซื้อราคาทองคำตอนย่อตัวของผู้เล่นในตลาดทองคำบ้าง หลังราคาทองคำปรับตัวลงอีกครั้ง ซึ่งโฟลว์ดังกล่าวจะเป็นแรงกดดันในฝั่งอ่อนค่าของเงินบาท

ดังนั้น หากเงินบาทจะแข็งค่าไปมากกว่านี้ อาทิ แข็งค่าแตะระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์อีกรอบได้นั้น เราเชื่อว่า จะต้องอาศัยปัจจัยฟันด์โฟลว์จากนักลงทุนต่างชาติ

ซึ่งเราประเมินว่า ในระยะสั้น นักลงทุนต่างชาติจะยังไม่รีบกลับมาตลาดหุ้นไทย จนกว่าจะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ดีต่อเนื่องจากการเปิดประเทศในเดือนนี้ก่อน 

ทั้งนี้ แนวต้านสำคัญของเงินบาทยังอยู่ในโซน 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ส่งออกบางส่วนต่างรอขายเงินดอลลาร์อยู่ ส่วนผู้นำเข้าบางส่วนก็รอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าขึ้น

ทำให้เงินบาทยังมีแนวรับสำคัญที่โซน 33.00-33.10 บาทต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ ต้องระวังการแข็งค่าหลุดระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากระดับดังกล่าวเป็นจุด Stop Loss ของบรรดาผู้เล่นต่างชาติ ทำให้อาจมีการ Cover Position เก็งกำไรเงินบาทอ่อน และหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้เร็ว

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.20-33.35 บาท/ดอลลาร์

ตลาดการเงินสามารถเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงต่อได้ แม้ว่าจะเผชิญความผันผวนในช่วงก่อนการประชุมเฟด โดยในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.65%

ส่วน ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ต่างปรับตัวขึ้นกว่า +1.04% ที่น่าสนใจก็คือ ดัชนีหลักของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์โดยพร้อมเพรียงกันนับตั้งแต่ต้นปี 2018

โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้แรงหนุนจากท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯหรือเฟด ที่ยังคงมีมุมมองไม่ได้กังวลต่อปัญหาเงินเฟ้อมากนัก อีกทั้งยังไม่ได้ส่งสัญญาณจะเร่งรีบขึ้นดอกเบี้ยตามที่ตลาดประเมินไว้

เนื่องจากเฟดอยากรอให้ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้ดีขึ้นก่อน ทั้งนี้ ในการประชุมล่าสุด เฟดได้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.00%-0.25% ตามคาด

พร้อมทั้ง ประกาศลดการทำคิวอี (QE Tapering) เดือนละ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยเฟดอาจปรับอัตราการลดคิวอีให้เร็วขึ้นหรือช้าลงได้ ตามความเหมาะสมขึ้นกับสถานการณ์ 

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX50 เดินหน้าปรับตัวขึ้น +0.31% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบริษัทโดยรวมที่ยังออกมาดีต่อเนื่อง อาทิ Adidas +2.10%, Infineon Tech +1.8%, BMW +1.7% แม้ว่าตลาดหุ้นยุโรปจะถูกกดดันจากการปรับตัวลดลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน เช่น TotalEnergies -1.8%, Eni -1.3% หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ เราประเมินว่า ตลาดทั่วโลกมีโอกาสอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงต่อได้ จากผลการประชุมเฟดที่มีประกาศการลดคิวอีแบบ Dovish Tapering หรือ ลดคิวอี แต่ก็ไม่ได้เร่งรีบจะขึ้นดอกเบี้ย นอกเหนือจากปัจจัยหนุนจากรายงานผลประกอบการที่ดีกว่าคาด

ในฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจปรับลดมุมมองที่เชื่อว่าเฟดจะสามารถทยอยขึ้นดอกเบี้ยได้เร็วกว่าคาด ซึ่งจะเห็นได้จากการที่ บอนด์ยีลด์ 2 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงจากที่แตะระดับ 0.50% ก่อนการประชุมเฟด สู่ระดับ 0.46% หลังรับรู้ผลการประชุมเฟดและรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟด

อย่างไรก็ดี ในส่วนบอนด์ยีลด์ระยะยาวจะเห็นได้ว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นราว 7bps สู่ระดับ 1.59% เพื่อสะท้อนการทยอยลดสภาพคล่องของเฟดผ่านการปรับลดคิวอี และสะท้อนภาวะตลาดที่ยังเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงต่อ 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ส่งผลให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลงสู่ระดับ 93.85 จุด จากที่แตะระดับ 94.20 จุด ก่อนการประชุมเฟด

หลังจากที่ เฟดไม่ได้ส่งสัญญาณเร่งรีบใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดตามที่ตลาดคาดหวังไว้ อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็เริ่มลดสถานะถือครองเงินดอลลาร์ เนื่องจากตลาดการเงินมีแนวโน้มเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงต่อ

ทั้งนี้ การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ กลับไม่ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นมาได้มาก โดยล่าสุด ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นแตะระดับเพียง 1,775 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จากที่ดิ่งลงไปแตะระดับ 1,760 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ในช่วงก่อนการประชุมเฟด เนื่องจาก บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ได้ปรับตัวสูงขึ้น และผู้เล่นในตลาดยังเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงต่อ ซึ่งเราคาดว่าบรรยากาศในตลาดการเงิน ณ ปัจจุบัน อาจทำให้ราคาทองคำต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ

อาทิ ความกังวลปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น หรือ ความกังวลปัญหาเศรษฐกิจจีนชะลอตัวหนัก ถึงจะสามารถเห็นราคาทองคำปรับตัวขึ้นกลับไประดับ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง  

สำหรับวันนี้ ในด้านข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดจะรอจับตา การประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ซึ่งตลาดส่วนใหญ่มองว่า BOE อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 0.25% จาก 0.10% หลังเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นเกินเป้าหมายและเศรษฐกิจก็ทยอยฟื้นตัวดีขึ้น

แต่เราเชื่อว่า BOE จะคงดอกเบี้ยนโยบายไปก่อน เพื่อประเมินผลกระทบจากการระบาดของเดลต้าและติดตามการฟื้นตัวตลาดแรงงาน ทั้งนี้ควรติดตามแรงกดดันเงินเฟ้อ ซึ่งอาจหนุนให้ BOE ขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาดได้

ส่วนในฝั่งไทย ตลาดจะรอลุ้น แนวโน้มฟื้นตัวเศรษฐกิจหลังการทยอยผ่อนคลาย Lockdown ซึ่งคาดว่าจะสะท้อนผ่านความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่จะปรับตัวขึ้นแตะระดับ 42 จุด ในเดือนตุลาคม โดยความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ทยอยฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องนั้นจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถผ่านจุดต่ำสุดของการระบาดระลอกใหม่ได้

ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 33.30-33.32 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ ใกล้ระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.32 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงเปิดตลาด แต่ทยอยลดช่วงแข็งค่ากลับมา ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ได้แรงประคองไว้บางส่วนตามทิศทางการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หลังจากเฟดมีมติปรับลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ลงเดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์ฯ เริ่มตั้งแต่เดือนพ.ย. ตามที่ตลาดคาด หลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัว อย่างไรก็ดีกรอบการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ฯ ยังเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากประธานเฟดยังคงย้ำว่า จะยังคงอดทนต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ย

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 33.25-33.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางฟันด์โฟลว์ สถานการณ์โควิด-19 ผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ ข้อมูล PMI ภาคบริการของยูโรโซน และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ