อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.81 บาทต่อดอลลาร์"อ่อนค่า"ลงจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 32.76 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ระบุว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา ความกังวลปัญหาการระบาด COVID ระลอกใหม่ในยุโรป ได้หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก รวมถึงสกุลเงินในฝั่งเอเชียในช่วงท้ายสัปดาห์
สำหรับสัปดาห์นี้ ตลาดจะรอลุ้นการประกาศว่าที่ประธานเฟดคนถัดไป ซึ่งอาจส่งผลต่อมุมมองของตลาดต่อทิศทางนโยบายการเงินเฟดได้ นอกจากนี้ ตลาดจะติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจทั่วโลกโดยเฉพาะรายงานดัชนี PMI
โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้
ฝั่งสหรัฐฯ – ตลาดประเมินว่าโมเมนตัมการฟื้นตัวเศรษฐกิจยังคงแข็งแกร่ง หนุนโดยการขยายตัวต่อเนื่องในอัตราเร่งของภาคการผลิตและการบริการในเดือนพฤศจิกายน ชี้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (Markit Mfg. & Services PMIs) ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 59.1 จุด และ 59 จุด ตามลำดับ (ดัชนี >50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) ทั้งนี้ปัญหาสำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐฯ คือ การเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อ ซึ่งตลาดคาดว่า อัตราเงินเฟ้อ PCE ในเดือนตุลาคม อาจเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 5.1% ซึ่งตลาดจะจับตามุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ปัญหาเงินเฟ้อ
รวมถึงทิศทางนโยบายการเงิน ผ่านรายงานการประชุม FOMC Minutes ล่าสุดที่เฟดได้มีการประกาศลดคิวอี นอกจากนี้ ตลาดจะรอลุ้นการประกาศว่าที่ประธานเฟดคนถัดไป ระหว่างประธานเฟดปัจจุบัน Jerome Powell และ Lael Brainard หนึ่งในสมาชิก Board of Governors ของเฟด โดยตลาดอาจกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หากประธานาธิบดี โจ ไบเดน เลือก Brainard ซึ่งมีมุมมองสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากกว่าประธานเฟด Powell เล็กน้อย
ฝั่งยุโรป – สถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ของ COVID ซึ่งเริ่มส่งผลให้บางประเทศกลับมาใช้มาตรการ Lockdown อาจส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจยุโรปส่งสัญญาณชะลอตัวลงมากขึ้น โดยตลาดประเมินว่า ภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการของยูโรโซนมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราชะลอลงจากผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่ ชี้จาก ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการที่จะปรับตัวลดลงสู่ระดับ 57.3 จุด และ 53.5 จุด ตามลำดับ
นอกจากนี้ ในฝั่งประเทศเยอรมนี ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาการระบาดที่หนัก ตลาดประเมินว่า ภาคธุรกิจเยอรมนีอาจมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจลดลง สะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (Ifo Business Climate) เดือนพฤศจิกายน ที่จะปรับตัวลดลงสู่ระดับ 96.5 จุด ซึ่งภาพเศรษฐกิจยูโรโซนที่มีแนวโน้มชะลอลงอาจกดดันให้ หุ้นยุโรป โดยเฉพาะหุ้นในธีม Reopening อาจปรับฐานได้ในระยะสั้น แต่หุ้นกลุ่มเทคฯ หรือ COVID plays อาจได้รับแรงหนุนในช่วงนี้ จากความกังวลโอกาสที่หลายประเทศอาจกลับมาใช้มาตรการ Lockdown นอกจากนี้ ภาพเศรษฐกิจยุโรปที่ฟื้นตัวได้แย่กว่าฝั่งสหรัฐฯ รวมถึงท่าทีของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ยังสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย จะยังคงกดดันให้เงินยูโร (EUR) มีแนวโน้มอ่อนค่าลงหรือทรงตัวในระดับต่ำต่อไป ซึ่งจุดเปลี่ยนที่จะช่วยให้เงินยูโรกลับมาแข็งค่าได้ อาจต้องรอการอนุมัติยา PAXLOVID ของ Pfizer หรือ สถานการณ์การระบาดในยุโรปไม่ได้เลวร้ายไปมากนัก
ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะจับตาแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่คาดว่าจะได้แรงหนุนจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown โดยตลาดมองว่าทั้งภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการของญี่ปุ่นจะขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นในเดือนพฤศจิกายน สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 54 จุด และ 51.2 จุด ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ในฝั่งของประเทศจีนที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ท่ามกลางปัญหาหนี้ของภาคอสังหาฯของจีน รวมถึงปัญหาการระบาดของ COVID ระลอกใหม่ ทำให้ตลาดมองว่าธนาคารกลางจีน (PBOC) จะคงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (LPR) ระยะเวลา 1 ปี และ 5 ปี ไว้ที่ระดับ 3.85% และ 4.65% ตามลำดับ เพื่อช่วยประคองการฟื้นตัวเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ทางด้านประเทศที่เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวดีขึ้นหลังสถานการณ์การระบาดคลี่คลาย แต่เริ่มเผชิญความเสี่ยงจากปัญหาเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น รวมถึงความเสี่ยงเสถียรภาพทางการเงิน ธนาคารกลางของประเทศดังกล่าวอาจทยอยใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น โดยธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) รวมถึง ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) มีแนวโน้มที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 0.75% และ 1.00% ตามลำดับ
ฝั่งไทย – เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องหนุนโดยการส่งออกสินค้า (Exports) ที่จะขยายตัวต่อเนื่องกว่า 17%y/y ในเดือนตุลาคม และแม้ยอดการนำเข้า (Imports) จะโตขึ้น 29%y/y แต่ดุลการค้าอาจเกินดุลราว 200 ล้านดอลลาร์
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวน ตามทิศทางเงินดอลลาร์ที่ยังคงมีโมเมนตัมในฝั่งแข็งค่าหนุนอยู่ และเงินดอลลาร์ก็อาจแข็งค่าขึ้นได้ หากตลาดกังวลปัญหาเงินเฟ้อรวมถึงปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในยุโรป ทั้งนี้ เงินดอลลาร์อาจย่อตัวลงได้บ้าง หากคุณ Lael Brainard ได้รับเลือกเป็นว่าที่ประธานเฟดคนใหม่ ทำให้ตลาดประเมินเฟดอาจไม่เร่งรีบใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด
นอกจากนี้ เงินบาทอาจผันผวนตามโฟลว์เก็งกำไรทองคำที่ผู้เล่นอาจรอ Buy on Dip และ กดดันเงินบาทอ่อนค่าได้ แต่เรามองว่า เงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมาก แม้ว่าจะเผชิญแรงกดดันจากทั้งเงินดอลลาร์และโฟลว์เก็งกำไรทองคำ เพราะผู้เล่นต่างชาติต่างรอจังหวะเข้าซื้อหุ้นและบอนด์ระยะสั้น เพื่อเก็งกำไรภาพการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ขณะที่ผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ เมื่อเงินบาทอ่อนค่าลงทำให้แนวต้านจะอยู่ใกล้ระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนแนวรับเงินบาทยังคงอยู่ที่โซน 32.55-32.60 บาทต่อดอลลาร์ ที่ผู้นำเข้าต่างรอซื้อเงินดอลลาร์
มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 32.55-33.00 บาท/ดอลลาร์
ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.75-32.85 บาท/ดอลลาร์
ทางด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาทอ่อนค่ามาอยู่ที่ระดับประมาณ 32.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ เทียบกับระดับปิดตลาดวันทำการก่อนหน้าที่ 32.76 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงท่ามกลางแรงหนุนเงินดอลลาร์ฯ จากท่าทีของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) หลายท่านที่ออกมาแสดงความคิดเห็นในเชิงสนับสนุนความเป็นไปได้ที่เฟดอาจจะเร่งปรับลดวงเงินการซื้อสินทรัพย์ผ่านมาตราการ QE ให้เร็วขึ้น นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ ยังได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากกระแสความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ในยุโรปซึ่งกดดันให้เงินยูโรอ่อนค่าลง
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 32.75-32.95 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ สถานการณ์โควิด-19 ตัวเลขการส่งออกของไทย และยอดขายบ้านมือสองเดือนต.ค. ของสหรัฐฯ