ธปท.กำหนดเพดานดอกเบี้ยหนุนมาตรการ “ รีไฟแนนซ์ รวมหนี้ข้ามแบงก์” ดอกเบี้ยไม่เกิน 8% ตลาดจับตานอนแบงก์พลิกเกมสู้รักษาฐานลูกค้า ถ้าสินเชื่อส่วนบุคคลย้ายรวมสินเชื่อบ้าน คาดคนกู้ซื้อบ้านราว 1ล้านรายเหลือรูมส่วนต่างกู้เพิ่มจากยอดคงค้างสินเชื่อบ้าน 4ล้านล้านบาทผู้กู้ 2ล้านราย
ตามที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้ออกมาตรการแก้หนี้ระยะยาวด้วยการรีไฟแนนซ์( refinance)และรวมหนี้(debt Consolidation) โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16พ.ย.2564ถึงธ.ค.2566นั้น
แหล่งข่าวจากสถาบันการเงิน กล่าวถึง มาตรการรีไฟแนนซ์ และมาตรการรวมหนี้ของธปท. โดยระบุว่า นอกจากกำหนดการรีไฟแนนซ์สินเชื่อพีโลนดอกเบี้ยลดลง 2-3% อาจถึง 10%บางกรณี และการรวมหนี้ช่วยดอกเบี้ยลดลงถึง 15% แล้ว ขณะเดียวกันทางธปท.ได้กำหนดเพดานดอกเบี้ย สำหรับหนี้ที่จะนำมารวมหนี้ โดยที่สถาบันการเงินผู้รับโอนหนี้ไม่สามารถจะเรียกเก็บดอกเบี้ยส่วนเกินจากที่ธปท.กำหนด เช่น สินเชื่อนาโน ดอกเบี้ยอยู่ที่ 33% สินเชื่อพีโลน 25% สินเชื่อจำนำทะเบียน 24% สินเชื่อบัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสด 16% เมื่อรวมหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยกับสินเชื่อดังกล่าวแล้ว ธปท.กำหนดดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ใช้ส่งเสริมการขายบวก 2% เช่น ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยMRRอยู่ที่อัตรา 6% ธนาคารสามารถบวกดอกเบี้ยได้เพียง 2% หรือรวมเป็นอัตรา 8%เท่านั้น
“ถ้ารวมหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลทุกประเภทแล้ว ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินจาก 8%ต่อปีเท่านั้น ดังนั้นประโยชน์จะตกอยู่กับลูกหนี้นอนแบงก์ที่ปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล แต่หากลูกค้าย้ายไปรวมหนี้ย่อมกระทบนอนแบงก์ในการรักษาฐานลูกค้า”
นายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันยอดสินเชื่อคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัย 4ล้านล้านบาทมีผู้กู้ประมาณ 2ล้านราย ซึ่งผู้ที่จะเข้ามาตรการรวมหนี้นั้นจะต้องผ่อนชำระค่าเงินมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว โดยหนี้เงินต้นคงเหลือจำนวนหนึ่ง
สมมติผู้กู้วงเงิน 1ล้านบาททยอยผ่อนชำระเงินต้นมาแล้ว 5แสนบาท หากมีเงินต้นคงเหลือที่ 5แสนบาทธนาคารจะปล่อยสินเชื่อไม่เกิน 80%ของมูลค่าหลักประกันเดิมหรืออัตราส่วนสินเชื่อไม่เกิน 80%ของLTVเดิม ซึ่งผู้กู้จะเหลือวงเงินกู้เพิ่มได้ 3แสนบาทเพื่อจะรวมหนี้เข้าด้วยกัน
ต่อข้อถามมาตรการ “รวมหนี้”จะนำไปสู่การแข่งขันในตลาดนั้น อาจมีความเป็นไปได้ ถ้าพิจารณาจากนิยามของธปท.กำหนด ธนาคาร A ที่มีสินเชื่อบ้านและสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งธนาคาร A จะเป็น “ขารับ” หรือรวมหนี้/โอนหนี้จากธนาคาร B ซึ่งมีหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลหรือหนี้บัตรเพื่อนำไปรวมกับธนาคาร A ที่มีสินเชื่อบ้าน ขณะเดียวกันอาจจะมี ธนาคาร C ซึ่งไม่มีลูกหนี้ทั้งสินเชื่อบ้านและสินเชื่อบัตร แต่ธนาคาร C สามารถ “ตั้งโต๊ะ”โดยเปิดรับทั้งหนี้บ้านและหนี้ส่วนบุคคลมารวมกัน
ดังนั้น ธนาคารC อาจจะทำให้เกิดการแข่งขันในระบบได้ หรือกรณีธนาคาร A โปรโมทหรือเปิดรับสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อรวมกับสินเชื่อบ้านที่มีอยู่ในธนาคารแล้ว กรณีก็อาจจะก่อให้เกิดการแข่งขันในระบบได้เช่นกัน
ในส่วนของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันมีบริการสินเชื่อ “โฮม ฟอร์ แคช”บ้านคือ ทางออกช่วงวิกฤต เพื่อให้ลูกค้าที่ผ่อนชำระสินเชื่อที่อยู่อาศัยมาระยะหนึ่งแล้วสามารถกู้เงินเพิ่มเพื่อซ่อมแซมบ้าน หรือใช้อุปโภคบริโภคยากฉุกเฉินเช่น ค่ารักษาพยาบาลหรือค่าเล่าเรียนและเสริมสภาพคล่องผู้มีอาชีพอิสระ ซึ่ง “โฮม ฟอร์ แคช” เน้นการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ พร้อมกำหนดดอกเบี้ยสูงสุดMRR+2.9%ต่อปี สำหรับวงเงินกู้ไม่เกิน 5แสนบาท กรณีวงเงินเกิน 5แสนบาทคิดดอกเบี้ยMRR+1.9% และวงเงิน 5ล้านบาทจะคิดดอกเบี้ยMRR+1.75%
“มาตรการรวมหนี้ของธปท.มีกำหนดวัตถุประสงค์การใช้เงินชัดเจน จึงเป็นประโยชน์ต่อลูกหนี้ ส่วนผลตอบรับคงต้องรอเวลา และขึ้นอยู่กับลูกค้าจะเปลี่ยนความเชื่อจากเดิมหรือไม่ คือ ที่ผ่านมาลูกค้าจะมีความเชื่อว่าไม่ควรทำธุรกรรมอยู่ในแบงก์เดียวกันเผื่อมีปัญหา เพราะถ้ามีปัญหาลูกค้าเลือกไม่ผ่อนค่างวดสินเชื่อส่วนบุคคลอีกแบงก์ แต่ลูกค้าจะเลือกผ่อนชำระค่าเงินสินเชื่อบ้านกับอีกแห่ง ดังนั้น ถ้าลูกค้าเปลี่ยนความเชื่อดังกล่าวก็จะเห็นคนใช้มาตรการรวมหนี้ ”