นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานเสวนาพิเศษหัวข้อ “การเงิน-การคลัง” กู้วิกฤตเศรษฐกิจไทย ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลใช้นโยบายการคลังในการดูแลเยียวยาและพยุงเศรษฐกิจจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผ่านมาตรการ อาทิ คนละครึ่ง ยิ่งใช้ยิ่งได้ ช็อปดีมีคืน และช็อปช่วยชาติ เป็นต้น เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภค ในภาวะที่คนประสบปัญหาเรื่องรายได้ หรือ ตกงาน
แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้น หลังจากนี้มาตรการของรัฐบาลจะมุ่งเน้นไปที่การสร้างงานสร้างอาชีพ เพื่อให้ทุกคนมีรายได้เป็นของตัวเอง และลดการใส่เงินเข้าไปที่เป๋าตังโดยตรง อย่างไรก็ตามในส่วนของผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ตกงาน รัฐบาลยังคงให้การช่วยเหลือและเยียวยา ผ่านมาตรการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งจะมีการเปิดให้ลงทะเบียนใหม่ในต้นปี 2565
“รัฐบาลมีการใช้นโยบายการคลัง ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิดที่รุนแรงขึ้น ทำให้จำเป็นต้องขยายกรอบวินัยการเงินการคลัง ในส่วนของการก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจาก 60% เป็น 70% ต่อจีดีพี เพื่อเปิดช่องในการดำเนินนโยบายการคลัง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะต้องก่อหนี้จนเต็มเพดานตามที่ขยายไว้” นายอาคม กล่าว
อย่างไรก็ตามการเติบโตเศรษฐกิจในอนาคตในแง่โครงสร้าง จะต้องมีการกระจายอย่างทั่วถึงในระดับประชาชน เพราะจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนออกจากงานค่อนข้างเยอะ มีบางส่วนอยากเปลี่ยนอาชีพ สะท้อนจากการเปิดลงทะเบียนรับเงินเยียวยาผู้ประกันตนในมาตรา 39 และ มาตรา 40 มีจำนวนมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้น รัฐบาลจะมุ่งเน้นการส่งเสริมอาชีพอิสระต่าง ๆ หรือเศรษฐกิจระดับตัวบุคคล ให้มากขึ้น