ธ.ก.ส. แจงดอกเบี้ยสินเชื่อ ย้ำ “พักหนี้” ไม่ใช่ “ยกหนี้”

26 พ.ย. 2564 | 10:15 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ย. 2564 | 17:21 น.

ธ.ก.ส. ยืนยัน การจ่ายสินเชื่อนวัตกรรมเครื่องจักรกล ดำเนินการตามหลักการ ชี้ให้อัตราดอกเบี้ย (MRR-1) ขณะที่การพักหนี้ ไม่ใช่การยกหนี้ เหตุยังต้องจ่ายดอก เพราะเป็นข้อกำหนดในการบริหารจัดการทางการเงิน

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข่าวจากสื่อออนไลน์ว่า ธ.ก.ส.หากำไรจากเกษตรกร โดยให้สินเชื่อโครงการนวัตกรรมเครื่องจักร เพื่อมาช่วยเหลืองานด้านการเกษตร ซึ่งในข่าวแจ้งว่า ธ.ก.ส.คิดอัตราดอกเบี้ยที่สูงมากและมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรไม่ได้ช่วยเหลือเกษตรกรอย่างจริงจัง 

 

ธ.ก.ส.ขอชี้แจงเรื่องดังกล่าวว่า สินเชื่อโครงการนวัตกรรมเครื่องจักร วัตถุประสงค์เพื่อนำมาทดแทนและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร ซึ่งเป็นความต้องการของเกษตรกร โดย ธ.ก.ส.สนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตรเป็นผู้จัดซื้อเครื่องจักรกลและนำไปบริการแก่สมาชิก เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตและสหกรณ์สามารถดำเนินธุรกิจด้านการบริการ  ซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ย (MRR-1) ปัจจุบัน MRR อยู่ที่ 6.875-1 เท่ากับ 5.875 ต่อปี 

 

สมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการ ธ.ก.ส.

ส่วนโครงการพักชำระหนี้ เป็นการช่วยเหลือบรรเทาภาระทางการเงินไม่ให้เกษตรกรต้องรับภาระหนักในช่วงที่ไม่มีรายได้ ทั้งนี้ การพักชำระหนี้ไม่ใช่การยกหนี้ โดยหนี้ในส่วนของเกษตรกรยังคงอยู่ เพียงแต่ยังไม่ต้องจ่ายช่วงเวลานั้น ซึ่ง ธ.ก.ส. กำหนดเงื่อนไขส่งเพียงแต่ดอกเบี้ย ซึ่งเป็นข้อกำหนดในการบริหารจัดการทางการเงิน

 

ส่วนโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว  ปี 2564/65 ในรอบการเก็บเกี่ยวที่ 1-2 ธ.ก.ส. ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จ่ายเงินตามโครงการดังกล่าว  เข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง โดยในช่วงวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้ดำเนินการจ่ายเงินไปแล้วในวงเงินรวม 13,225 ล้านบาท  มีเกษตรกรได้รับประโยชน์จำนวน 530,842  ครัวเรือน  ทั้งนี้ ในรอบการเก็บเกี่ยวต่อไป อยู่ระหว่างรอความเห็นชอบกรอบงบประมาณตามที่กระทรวงพาณิชย์นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี  ซึ่งหาก ครม. เห็นชอบ ธ.ก.ส. ก็พร้อมจะดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรทันที 

พร้อมย้ำตลอดระยะเวลาการดำเนินงานกว่า 55 ปี ธ.ก.ส. มุ่งดูแลพี่น้องเกษตรกรและผู้ประกอบการภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร  และพร้อมเป็นกลไกของรัฐบาลในการช่วยเหลือผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น  ปัญหาภัยธรรมชาติต่าง ๆ ปัญหาวิกฤต COVID-19 เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรก้าวข้ามวิกฤตต่าง ๆ ได้อย่างเข้มแข็ง