ฝุ่นยังตลบกับการจ่ายเคลมประกันโควิด แบบเจอจ่ายจบ ที่มีกรมธรรม์รวม 9.6 ล้านฉบับ จาก 19 บริษัท มีผู้ยื่นเคลมทั้งสิ้น 2.4 แสนราย ค่าสินไหมทดแทนราว 16,500 ล้านบาท จากจำนวนกรมธรรมประกันโควิดสะสมในช่วงเกือบ 2 ปีที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 กว่า 44.6 ล้านกรมธรรม์ เบี้ยประกันภัยสะสม 10,700 ล้านบาท และจ่ายค่าสินไหมทดแทนไปแล้วราว 24,000 ล้านบาท
โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตาในเดือนเมษายน 2564 พบว่า อัตราการทำประกันโควิดเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว โดยจำนวนกรมธรรม์เพิ่มขึ้น 586% เบี้ยประกันภัยเพิ่มขึ้น 296% ขณะที่การจ่ายค่าสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้นถึง 285,614% ทำให้เกิดปัญหาการจ่ายค่าสินไหมทดแทนล่าช้าและกระทบต่อเงินกองทุน หลายแห่งจึงต้องการยกเลิกการเอาประกันภัยแบบเจอจ่ายจบ เพราะหากไม่สามารถหยุดจ่ายเคลมตามกรมธรรม์ได้ จะเป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มทุน เพราะคงไม่มีนายทุนรายใดคิดจะใส่เงินเพิ่มเข้ามา
แหล่งข่าวในวงการประกันภัยระบุว่า โอกาสเพิ่มทุนของบริษัทประกันภัยที่ยื่นขอผ่อนผันจากคปภ. 3 แห่งคือบริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน)และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน)อยู่ในภาวะยากจะตัดสินใจ อย่างเดอะวัน ประกันภัย นายทุนเก่าไม่เอาแล้วและได้นายทุนใหม่เข้ามาใส่เงินรอบแรก 1,000 ล้านบาท แต่เดินต่อไม่ไหว เพราะการจะเติมเงินใหม่อีก 2,000 ล้านบาทนั้น นายทุนยังไม่รู้อนาคตว่า การแพร่ระบาดของโควิดจะอีกยาวเพียงใด
ประกอบกับถ้าเติมเงินมา เพื่อจ่ายเคลมสินไหมทดแทนเก่าที่ค้าง และแนวโน้มวันนี้ หากเกิดระบาดอีกระลอก ขณะที่ความเสียหายเดิมยังไม่หยุด เพราะบริษัทยังต้องจ่ายเคลมสินไหมไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2565 ก็ยังไม่รู้จะจ่ายเคลมอีกเท่าไหร่ ดังนั้นโอกาสเพิ่มทุนจึงอยู่ในภาวะยากจะตัดสินใจ เช่นเดียวกับ บมจ.สินมั่นคง ขณะที่บริษัท ไทยประกันภัยนั้น แนวโน้มยังคงดูแลลูกค้าเฉพาะสัญญาที่มีอยู่จนถึงไตรมาส 1 ปี 2565 หลังจากนั้น มีความเป็นไปได้ที่คืนใบอนุญาตโดยคงเหลือบริษัท อาคเนย์ ประกันภัยไว้
ส่วนข้อเสนอของสมาคมประกันวินาศภัยไทยที่ต้องการจะให้บริษัทประกันสามารถบอกเลิกกรมธรรม์ประกันโควิด แบบเจอจ่ายจบ ได้ แม้ว่าผู้เอาประกันภัยจะไม่ยินยอม ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คปภ.ทบทวนอย่างรอบคอบแล้วเห็นว่า นอกจากจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนแล้ว ยังจะขัดต่อคำสั่งนายทะเบียนที่ยังมีผลตามกฎหมาย อีกทั้งยังขัดต่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งห้ามผู้ประกอบการบอกเลิกสัญญาสำเร็จรูปโดยที่ไม่ใช่ความผิดของผู้เอาประกันภัย
ดังนั้นหากบริษัทประกันภัยบอกเลิกกรมธรรม์ในกรณีดังกล่าว จะทำให้บริษัทประกันภัยผิดสัญญาและสุ่มเสี่ยงต่อการที่ผู้เอาประกันภัย ซึ่งมีจำนวนมากจะฟ้องเรียกค่าเสียหาย ในลักษณะที่เป็น class action ได้ และอาจมีประเด็นความเสี่ยงอื่นๆที่ตามมา ผลกระทบจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น
“เราได้หารือกับหน่วยงานกำกับดูแลในหลายประเทศต่างแสดงความห่วงใยและเห็นว่าไม่น่าจะกระทำได้ จึงแนะนำบริษัทประกันภัยที่ประสบปัญหาให้ใช้มาตรการทางเลือกอื่น เช่น ให้ข้อเสนอที่จูงใจให้ผู้เอาประกันสมัครใจเลือกจะเหมาะสมมากกว่า”ดร.สุทธิพลกล่าว
แหล่งข่าววงการประกันวินาศภัยวิเคราะห์ความอยู่รอดของธุรกิจประกันภัยว่า ปัจจุบันมีธุรกิจประกันวินาศภัย 54 บริษัท เบี้ยประกันภัยรับรวมกว่า 2.5 แสนล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีบริษัทขนาดใหญ่ 15 บริษัท มีเบี้ยประมาณ 2 หมื่นล้านบาท รองลงมาขนาดกลาง เบี้ยไม่ถึง 3-4 พันล้านบาท ที่เหลืออีก 23-24 บริษัท ที่มีเบี้ยต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งเล็กเกินไปที่จะรอด
ตอนนี้ต้องพูดถึง Market Consolidation เพื่อความอยู่รอดหรือควบรวมกันให้แข็งแรงขึ้น เพราะเวลานี้การระบาดรอบ 5 กลับมาแล้ว เพียงแต่ยังไม่เพิ่มมากเหมือนปีก่อน เพราะคนไทยได้รับวัคซีน ทำให้คนติดเชื้อมีอาการไม่รุนแรงและไม่เสียชีวิต แต่คนติดเชื้อที่ซื้อกรมธรรม์แบบ เจอจ่ายจบจะได้รับค่าสินไหมทดแทนไปแล้ว
“ประเด็นคือ บริษัทที่รับประกันภัยแบบเจอจ่ายจบ บางบริษัทที่จ่ายเคลมไปเยอะแล้ว บางบริษัทขาดทุนสะสม อันนี้น่าเป็นห่วงถ้าการระบาดใหม่ขยายวง แต่ยังคิดเบี้ยปีก่อน คือ อัตราเบี้ยประกันภัยที่คปภ. อนุมัติราคา 499 บาท ความคุ้มครอง 1 แสนบาท อัตราความเสี่ยงที่ 0.49% แต่วันนี้คนไทยติดเชื้อมากกว่า 4% ถามว่าแล้วบริษัทที่รับเจอจ่ายจบจะรอดหรือ” แหล่งข่าวกล่าว
สอดคล้องกับแหล่งข่าวอีกรายให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาทุกบริษัทที่รับประกันภัยโควิดแบบเจอจ่ายจบ ยอมรับสภาพของตัวเองยอมจ่ายเคลม เพื่อดูแลลูกค้าและรักษาแบรนด์ของบริษัทกันสุดชีวิต สิ่งที่ทำคือ .เตรียมเพิ่มทุนให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่กำลังจะเกิดขึ้น 2.เมื่อนายทะเบียนเห็นว่า บริษัทเพิ่มทุนไม่ทัน ควรจะให้บริษัทใช้เงื่อนไขกรมธรรม์ยกเลิกเฉพาะในส่วนของกรมธรรม์ที่ยังมีผลบังคับตามสัญญา โดยผู้ถือกรมธรรม์ยังไม่ติดชื้อให้สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นกรมธรรม์ประเภทอื่นเพื่อลดความเสี่ยงและคืนเงินเต็มจำนวนให้ผู้ถือกรมธรรม์
“สิ่งที่ภาคธุรกิจขอร้องให้คปภ.พิจารณา ไม่ใช่ยกเลิกกรมธรรม์โดยไม่จ่ายเคลม สำหรับคนที่ติดเชื้อแล้วบริษัทต้องจ่ายค่าสินไหมให้จบสิ้น แต่ขอให้บริษัทที่มีอัตราความเสียหายหรือจ่ายเคลมไปเกิน 400% สามารถยกเลิกกรมธรรม์ที่ยังวิ่งอยู่ คือ ผู้ซื้อประกันภัยเจอจ่ายจบยังไม่ได้ติดเชื้อ แต่ในส่วนของบริษัทที่ได้รับผลกระทบไม่มากและยังคงมีฐานะแข็งแรงก็ยังคงบทบาทเดิม เพราะต้องมองภาพรวมธุรกิจและระบบสาธารณสุขของประเทศไทยด้วย
นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) หรือ “TVI” กล่าวว่า ประกันโควิดเกี่ยวกับภาวะโคม่าและค่ารักษาพยาบาล จะมีค่ารักษาส่วนเพิ่มประกันสุขภาพ ซึ่งไม่มีผลกระทบที่รุนแรง แต่แนวโน้มยังไม่มีความแน่นอน หากสามารถควบคุมการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนได้ดี อาจไม่เกิดผลกระทบรุนแรงกว่าปีที่แล้ว แต่มีความเสี่ยงกับบริษัทที่รับประกันภัยโควิดแบบ “เจอจ่ายจบ”
“ตอนนี้ห่วงคลัสเตอร์ในอนาคตที่ไม่แน่ เพราะยังมีบริษัทที่ได้รับผลกระทบภาพรวม เข้าใจว่าคปภ. อยู่ระหว่างพูดคุยกันและหาแนวทางช่วยเหลือเพิ่มเติม ส่วนตัวมองว่า ต้องเข้าไปดูโครงสร้างของผู้ซื้อกรมธรรม์เจอจ่ายจบ จำนวนกรมธรรม์ การดูแลผู้บริโภค เพราะกรมธรรม์กว่าจะครบสัญญาในอีก 7 เดือนข้างหน้าหรือเดือนมิถุนายน ถ้าไม่สามารถควบคุมได้ดี อาจจะกระทบเศรษฐกิจภาพรวม” นายจีระพันธุ์กล่าว
ส่วนแนวโน้มการควบรวมกิจการของบริษัทประกันภัยนั้น นายพีรพัฒน์ เมฆสิงห์วี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด กล่าวว่า ถ้าพิจารณาจากสถิติข้อมูลในอุตสาหกรรมวินาศภัยใน 20 อันดับแรกที่กินส่วนแบ่งทางการตลาดกว่า 80% ขณะที่บริษัทเล็กๆประมาณกว่า 30 บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดไม่ถึง 20% ซึ่งแนวโน้มบริษัทเล็กๆ เหล่านี้ต้องหาวิธีเอาตัวรอด
โดยเฉพาะเมื่อมองไปข้างหน้า นอกจากรายเล็กที่มีกว่า 30 บริษัท แต่มีส่วนแบ่งการตลาดเพียง 20% แล้วยังมีปัจจัยเรื่องต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นทั้งจากกฎกติกาสากล เช่น มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS17 ที่จะมีผลบังคับใช้ออกมาในปีหน้ามีข้อกำหนดต้องมีทุนอย่างน้อย 30 ล้านบาท หรือเรื่องกฎกติกาต่างๆ ไม่ว่า เรื่องการรู้จักตัวตนของลูกค้า (KYC) ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA)
"ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ทำให้บริษัทประกันวินาศภัยรายเล็กๆ ต้องปรับตัว ในแง่ต้นทุนที่สูงขึ้นจากกติกาใหม่ ถ้าจะทำธุรกิจโดยไม่มีกำไร ก็คงจะยาก จึงขึ้นกับว่าบริษัทกลุ่มนี้จะตัดสินใจอย่างไร"นายพีรพัฒน์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ภาพของการควบคุมกิจการจะเกิดขึ้นได้ ภาครัฐต้องออกมาตรการสนับสนุนกระบวนการรวมถึงเรื่องภาษีซ้ำซ้อน ถามว่าเราสนใจจะซื้อใครไหม สำหรับเราเปิดตลอดอยู่แล้ว เพราะบริษัทมีความแข็งแกร่งด้านการเงิน สภาพคล่อง และมีความพร้อมด้านเงินกองทุน จึงสนใจที่จะซื้อกิจการประกันภัย โดยไม่ได้มีสเป๊ก ไม่ได้ตั้งงบประมาณด้วย และไม่จำเป็นต้องว่าจะต้องเป็นประกันภัยรถยนต์ ขอให้เป็นคนที่มีความเชื่อใจในการทำธุรกิจและต้องการขยายองคืกรไปด้วยกัน
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,738 วันที่ 9 -11 ธันวาคม พ.ศ. 2564