ความร้อนแรงของบิทคอยน์ ทำให้เหรียญดิจิทัลสกุลอื่นๆ คึกคักขึ้น และในประเทศไทยเริ่มมีการนำเงินดิจิทัลมาใช้ในชีวิตประจำวัน หลายบริษัทประกาศให้ลูกค้าชำระค่าสินค้าด้วยเงินดิจิทัล ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงความเป็นห่วง เนื่องจากมองว่า มีความผันผวนสูงและอาจมีผลกระทบต่อระบบการชำระเงินในประเทศ
นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธปท.เปิดเผยว่า ธปท.ในฐานะผู้กำกับดูแลเสถียรภาพโดยรวม มีความเป็นห่วงและกังวลต่อแนวโน้มที่จะมีการพัฒนาและนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในการชำระเงินมากขึ้น ซึ่งความกังวลเช่นเดียวกับธนาคารกลางหลายประเทศ
“ขณะนี้ธปท.ไม่ได้ห้าม แต่เป็นห่วงในการนำสินทรัพย์ดิจิทัลใช้ ชำระค่าสินค้าและบริการ ในอนาคต เนื่องจากมีเรื่องความผันผวนของราคาหรือมูลค่าสินทรัพย์” นางสาวชญากล่าว
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท.กล่าวว่า ขณะนี้เป็นการหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณารูปแบบการให้บริการรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยเงินดิจิทัล เพื่อจำกัดความเสี่ยง หากมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนในการเตือนจะสูงมาก
ในหลักการในแง่สินทรัพย์ดิจิทัล ธปท.ไม่ได้กังวลในทุกเรื่องเท่ากัน แต่สิ่งที่กังวลจะเป็นนำมาสื่อกลางการชำระเงิน เนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัลมีหลายประเภท ซึ่งบางประเภท เช่น Blank coin ที่ไม่มีสินทรัพย์หนุนหลัง อาจจะเกิดความเสี่ยงในเรื่องของการรักษามูลค่าของเงินได้ ซึ่งอาจจะเกิดความผันผวนได้ ส่วนในเรื่องของการลงทุนขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของแต่ละคน แนวโน้มการกำกับดูแลจะดูครอบคลุมให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมีความเสี่ยงน้อยที่สุด
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาผู้ประกอบการมีการได้เข้ามาคุยบ้าง เพื่อให้เกิดความเข้าใจในโมเดล แต่ในทางปฏิบัติผู้ประกอบการที่ออกสินทรัพย์ดิจิทัลมาแล้วยังคงใช้ได้โดยไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด ในส่วนของธปท.จะมีการออกภูมิทัศน์ทางการเงินหรือ Consultation papar financial Landscape ภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 ในเรื่องแนวโน้มของระบบการเงินดิจิทัลในระยะข้างหน้า ซึ่งจะมีในเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลจะเป็นส่วนหนึ่งด้วย
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,738 วันที่ 9 - 11 ธันวาคม พ.ศ. 2564