นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)ในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ (สงร.)เปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)อยู่ระหว่างเสนอร่างการปรับโครงสร้างหนี้รายย่อยอย่างยั่งยืนให้กระทรวงคลังพิจารณา เพื่อประกาศใช้ในไตรมาสแรกปี 2565 โดยแบงก์รัฐมีข้อตกลงร่วมกัน เพื่อกำหนดแนวทางปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้ฟื้นตัวจากปัญหาโควิด-19 ซึ่งอาจมีส่วนสูญเสียเข้ามาในแบงก์รัฐแต่ละแห่งบ้าง
ดังนั้น จึงต้องหาข้อสรุปร่วมกันให้ชัดเจน เพื่อให้ลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ และสามารถกลับมาทำธุรกิจ ฟื้นกิจการต่อไปได้เหมือนเดิม โดยไม่ปล่อยให้กิจการล้ม ในส่วน ธอส. เป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน หากเป็นดอกเบี้ยค้างชำระ ต้องดูว่า จัดการอย่างไร หรือควรให้ทยอยจ่ายไปก่อน การลดดอกเบี้ยจึงดูตามความเหมาะสมแต่ละราย
สำหรับทิศทางดอกเบี้ยในปี 2565 หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ส่งสัญญาขยับดอกเบี้ยขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ของไทย เมื่อ กนง.ปรับเพิ่มดอกเบี้ยขึ้นตามตลาดโลก อัตราดอกเบี้ย MRR ในตลาดจะปรับขึ้นตาม จึงต้องติดตามดูว่า ทั้ง ธปท. ธนาคารพาณิชย์จะปรับเพิ่มรวดเร็วอย่างไร
“จากนั้นแบงก์รัฐจะพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่จะเป็นผู้ปรับหลังสุด ซึ่งยอมรับว่า การปรับเพิ่มทุก 0.25% จะส่งผลต่อการตัดสินใจขอสินเชื่อบ้านล่าช้าออกไปบ้าง หากสถาบันการเงินออกผลิตภัณฑ์แบบคงอัตราดอกเบี้ยไว้ต่ำ อาจทำให้มีผู้ต้องการบ้าน ตัดสินใจเข้ามาซื้อบ้านอัตราดอกเบี้ยต่ำเอาไว้ ก่อนดอกเบี้ยจะขยับเพิ่มขึ้นได้”นายฉัตรชัยกล่าว
สำหรับผู้ประกอบการอสังหาฯ คงยังไม่ตัดสินใจปรับเพิ่มราคาในช่วงครึ่งปีแรกปี 65 แต่อาจขยับขึ้นในครึ่งหลังแทน เพราะโครงการบ้านคงหมดสต๊อกไปแล้ว แต่หากสัญญาณปรับเพิ่มดอกเบี้ยในต้นปีหน้า อาจทำให้มีแรงตัดสินใจซื้อก่อนดอกเบี้ยจะสูงขึ้น
"ช่วงโควิด-19 ผู้ประกอบการได้ลดราคาและชะลอการก่อสร้างใหม่ บ้านค้างสต๊อกจึงได้ระบายออกมาพอสมควร เมื่อรัฐบาลเปิดประเทศ กระจายการฉีดวัคซีนครอบคลุมมากขึ้น ประชาชนได้ปรับตัวป้องกันการแพร่ระบาดดีขึ้น กำลังซื้อในภาคอสังหาฯ จึงเริ่มกลับมา ขณะที่ราคาที่ไปแล้ว 30% อาจเริ่มขยับบ้างครั้งละ 5-10% ซึ่งคงไม่ปรับเพิ่มทันทีเพราะกระทบต่อยอดขาย"นายฉัตรชัยกล่าว
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง เมื่อแบงก์พาณิชย์ แบงก์รัฐ ปรับเพิ่มดอกเบี้ย อาจกระทบกลุ่มเปราะบาง ที่ยังไม่ฟื้นตัวและแข็งแรงเต็มที่จากพิษโควิด-19 จึงกระทบต่อความสามารถชำระหนี้คืน เงินชำระรายเดือนปรับสูงขึ้น เช่น รายได้สุทธิ 10,000 บาทต่อเดือน ผ่อนชำระบ้าน 5,000 บาท จากเงินกู้ 1-1.2 ล้านบาท เพื่อดอกเบี้ยเพิ่ม อาจต้องผ่อนชำระเพิ่มเป็น 6,000 บาทต่อเดือน
ในส่วนของธอส. อาจกำหนดวงเงินการปรับดอกเบี้ยเช่น ขึ้นอยู่กับงบการเงินของแต่ละแห่งเข้มแข็งอย่างไร หากเป็นกลุ่มเปราะบาง ผู้มีรายได้น้อย จะปรับเพิ่มช้าสุด หากวงเงินซื้อบ้านต่ำกว่า 2 ล้านบาท จะตรึงดอกเบี้ยให้นานที่สุด เพื่อไม่ให้รายย่อยได้รับผลกระทบ
ช่วงต้นปี 65 ธอส. ยังเตรียมระดมทุนเพิ่มเติมผ่านสลากออมทรัพย์ ธอส. ตามแผนที่กำหนดไว้ โดยจำหน่ายหน่วยละ 100,000 บาท และหน่วยละ 5,000 บาท อายุ 2 ปี วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท เพื่อนำทุนไปใช้ปล่อยสินเชื่อ ซึ่งแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น เป็นโอกาสของสลากออมทรัพย์ เพราะสลากฯจะดีกว่าพันธบัตรรัฐบาล เพราะขายคืนได้ เนื่องจากดอกเบี้ยไม่แตกต่างกันมากนัก และยังมีโอกาสถูกรางวัล ไถ่ถอนคืนได้