ธนาคารโลก ชี้ "โควิด-19" ทำคนไทยยากจนเพิ่ม 1.6 แสนคน

14 ธ.ค. 2564 | 06:16 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ธ.ค. 2564 | 13:22 น.

ธนาคารโลก เผย ตั้งแต่โควิดระบาดในปี 63 ทำไทยมีคนจนเพิ่มขึ้น 1.6 แสนคน เหตุส่วนใหญ่ตกงาน และถูกให้หยุดงานชั่วคราว พร้อมคาด หากโควิดไม่กลับมาระบาดหนักซ้ำ เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นปลายปี 65 โดย GDP จะขยายตัวได้ 3.9%

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารโลกคาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยจะกลับสู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดได้ในช่วงปลายปีพ.ศ. 2565 โดยมีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนและการกลับมาของนักท่องเที่ยวเป็นปัจจัยในการสนับสนุนการฟื้นตัว  พร้อมคาดการณ์ GDP ไทยปี 65 จะขยายตัวได้ 3.9% และในปี 66 จะขยายตัวที่ 4.3% จากปัจจัยบวก แรงขับเคลื่อนจากการฟื้นตัวของกิจกรรมภาคบริการ และหากสามารถรักษาอัตราการฉีดวัคซีนในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 750,000 โดสต่อวัน และไม่มีการกลับมาระบาดของโควิด-19 อีก ซึ่งจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เพิ่มขึ้น ซึ่งความเร็วในการฟื้นตัวจะขึ้นอยู่กับปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติและการบริโภคภายในประเทศ

ขณะที่ อัตราความยากจนของไทยคาดว่าจะทรงตัวที่ 6.4%  ในปีพ.ศ. 2564 โดยมีคนยากจนเพิ่มขึ้นประมาณ 160,000 คน นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปีพ.ศ. 2563 แต่จากการสำรวจครัวเรือนทางโทรศัพท์ของธนาคารโลกปี พ.ศ. 2564 พบว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีความรุนแรงเป็นพิเศษต่อกลุ่มเปราะบาง โดยรวมแล้ว มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามทางโทรศัพท์ 2,000 ราย ได้รับผลกระทบจากการตกงาน การหยุดงานชั่วคราว และจำนวนชั่วโมงทำงานที่ลดลง หรือค่าจ้างที่ลดลง

 

พร้อมกันนี้ในรายงานของธนาคารโลก ระบุว่า แผลเป็นจากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 อาจคงอยู่ไปอีกนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการสูญเสียงานและการปิดโรงเรียน ดังนั้นการพัฒนาที่นำโดยดิจิทัลสามารถช่วยชดเชยผลกระทบจากรอยแผลเป็นเหล่านี้ และทำให้มั่นใจได้ว่าการเติบโตจะมีความทั่วถึงและเท่าเทียมกัน

ทั้งนี้ นับตั้งแต่การแพร่ระบาดในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 พบว่า ผู้ใช้บริการดิจิทัลทั้งหมดในประเทศไทยเป็นผู้ใช้บริการรายใหม่ 30% ของและการบริโภคของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 90% ซึ่งสูงเป็นอันดับสองในภูมิภาครองจากสิงคโปร์ ตามรายงาน การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เร่งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นการตอบสนองต่อมาตรการควบคุมการเดินทางที่ขยายระยะเวลาออกไป และเพื่อให้การปฏิบัติงานยังคงดำเนินต่อไป

 

โดยในรายงานได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ในขณะที่รัฐบาลได้มีการดำเนินการในหลายด้านเพื่อขับเคลื่อนวาระดิจิทัลแล้ว แต่รัฐบาลยังคงสามารถดำเนินการเพิ่มเติมได้อีกเพื่อพัฒนาบริการดิจิทัลและกระตุ้นธุรกิจดิจิทัล เช่น การส่งเสริมการแข่งขันและการจูงใจให้เกิดความสามารถในการทำงานร่วมกันในตลาดดิจิทัล การเพิ่มความพร้อมของทักษะด้านดิจิทัลและทักษะเสริมอื่นๆ รวมถึงยกระดับการเข้าถึงนวัตกรรมทางการเงิน