ภาษีขายหุ้น Financial Transaction tax คืออะไร ใครบ้างต้องจ่าย 

18 ธ.ค. 2564 | 04:32 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ธ.ค. 2564 | 11:38 น.

ภาษีขายหุ้น Financial Transaction tax คืออะไร ต่างกับ Capital gain tax อย่างไร ใครบ้างเข้าข่ายต้องจ่ายภาษี หากสรรพากรเรียกเก็บ หาคำตอบได้ที่นี่

กรณีกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง มีแผนเรียกเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หรือ Financial Transaction tax โดยนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ระบุว่า ภาษีดังกล่าวได้รับการยกเว้นมากกว่า 30 ปี โดยกระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างพิจารณาการเรียกเก็บ แต่จะต้องดูหลายปัจจัยประกอบ โดยเฉพาะเงื่อนไขเวลาที่เหมาะสม

 

กระทรวงการคลังและกรมสรรพากร ยืนยันว่า การเรียกเก็บภาษีดังกล่าวนั้น นักลงทุนรายย่อยที่มีอยู่ 85% จะไม่ได้รับผลกระทบแน่นอน 

การจัดเก็บภาษีหุ้นในตลาดหลักทรัพย์มี 2 รูปแบบ 

  • Capital Gain Tax ภาษีกำไรจากเงินลงทุน หรือภาษีเงินได้จากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ที่เกิดจากส่วนต่างของราคาหุ้น  ซึ่งในหลายประเทศมีการเรียกเก็บภาษี  Capital Gains Tax แต่ประเทศไทยยังไม่มีการเรียกเก็บภาษีในส่วนนี้ แต่ถ้าเป็นการขายหรือโอนหลักทรัพย์นอกตลาด ผู้ลงทุนประเภทบุคคลธรรมดาที่อยู่ในประเทศไทยถึง 180 วันในปีภาษีจะต้องเสียภาษีโดยถูกหัก ณ ที่จ่ายตามอัตราภาษีก้าวหน้า และต้องนำเงินได้ไปรวมคำนวณตอนสิ้นปีด้วย ส่วน Capital Gain จากการลงทุนในกองทุนรวม ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี
  • Financial Transaction tax หรือภาษีขายหุ้น คือการเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์  ซึ่งในกฎหมายกำหนดไว้ว่าการขายหุ้นในตลาดฯ 1 ล้านบาทขึ้นไปจะต้องเสียภาษีในอัตรา 0.1% ของมูลค่าขาย แต่ภาษีดังกล่าวได้รับการยกเว้นมาตั้งแต่ปี 2534 

ภาษีที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหุ้น สำหรับผู้ลงทุนไทยและผู้ลงทุนต่างประเทศ ที่ประกอบกิจการในประเทศไทย

1. กำไรจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ /ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Capital gain) 

  • บุคคลธรรมดา เงินกำไรที่ได้จากการขายหุ้น ได้รับการยกเว้นภาษี
  • นิติบุคคล ไม่มีภาษีหัก ณ ที่จ่าย แต่ต้องนำไปรวมเป็นรายได้เพื่อคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล

2. เงินปันผล (Dividend)

  • บุคคลธรรมดา ภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% แต่จะได้รับการยกเว้นภาษี ในกรณีได้รับเงินปันผลจากบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
  • นิติบุคคล ภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% แต่จะได้รับการยกเว้นภาษี ในกรณี
  1. ผู้ได้รับเงินเป็นบริษัทจดทะเบียน โดยถือหุ้นเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือนก่อน และ 3 เดือนหลังวันที่ได้รับเงินปันผล
  2. ผู้ได้รับเงินได้ถือหุ้นในบริษัทผู้จ่ายเงินปันผล ไม่น้อยกว่า 25% ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง โดยถือหุ้นเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือนก่อน และ 3 เดือนหลังวันที่ได้รับเงินปันผล และบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทผู้ได้รับเงิน
  3. ได้รับเงินปันผลจากบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม

  • ผู้ลงทุนจะถูกเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทหลักทรัพย์ที่ให้การบริการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ / สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ในอัตราร้อยละ 7 ของค่าธรรมเนียมหรือค่านายหน้าในการซื้อขายตามที่บริษัทหลักทรัพย์นั้นเรียกเก็บ 
  • อย่างไรก็ตามการขายหุ้น ไม่ถือว่าเป็นการขายสินค้า จึงไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
  • หมายเหตุ: อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามนโยบายของภาครัฐ ผู้ลงทุนสามารถติดตามข้อมูลอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มได้ที่ www.rd.go.th

การเก็บภาษีหุ้นของผู้ลงทุน

ใครบ้างเข้าข่ายต้องจ่ายภาษีหุ้นจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หรือ Financial Transaction tax? 
กระทรวงการคลังกำลังศึกษามี 3 แนวทาง 

  1. การขายหุ้นในตลาดฯ 1 ล้านบาทต่อเดือน 
  2. การขายหุ้นในตลาดฯ 1.5 ล้านบาทต่อเดือน 
  3. การขายหุ้นในตลาดตั้งแต่ 2 ล้านบาทต่อเดือนขึ้นไป 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า ปัจจุบันกระทรวงการคลังยกเว้นภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงยกเว้น Capital gains tax ซึ่งในหลายประเทศมีการจัดเก็บภาษีทั้ง 2 ตัวนี้ บางประเทศก็เก็บตัวใดตัวหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่มีการเก็บ Financial Transaction Tax

ตามกฏหมาย ประเทศไทยมีการจัดเก็บภาษีรายรับจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้วในอัตรา 0.1% เพียงแต่มีการยกเว้นมาตั้งแต่ 2534 จนถึงปัจจุบัน ดังนั้น หากภาครัฐหากต้องการขยายฐานภาษี การพิจารณากลับมาเก็บภาษีชนิดนี้ก็เป็นหนึ่งในช่องทางที่เป็นไปได้

หากมีการเก็บภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์ หรือ Capital gains tax จะต้องตรากฎหมายขึ้นมาใหม่ หรือแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติม แต่สำหรับการเก็บภาษีการขายหุ้น นั้นมีประมวลรัษฎากรสามารถดำเนินการได้ทันที

ที่มา: กรมสรรพากร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย