นายกฟินเทค มองเงินดิจิทัล "Retail CBDC" จะมีบทบาทตลาดการเงินปีหน้า

22 ธ.ค. 2564 | 11:43 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ธ.ค. 2564 | 19:21 น.

นายกสมาคมฟินเทคฯ มอง"เงินดิจิทัล"จะเข้ามามีบทบาทในตลาดเงิน-ตลาดทุนปีหน้ามากขึ้น หลังธปท.ประกาศใช้สกุลเงิน "Retail CBDC" จี้คลัง เคลียร์ให้ชัด "ภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล" หัก ณ ที่จ่าย 15% เป็น Final Tax หรือไม่

22 ธ.ค.65 นายชลเดช เขมะรัตนา นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย  กล่าวในรายการ "ฐานทอล์ก" จัดโดย "ฐานเศรษฐกิจดิจิทัลออนไลน์" ถึงภาพรวมทิศทางเงินดิจิทัลไทยปี 2565 ว่า ตนสนับสนุนสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง Central Bank Digital Currency (CBDC)  ซึ่งขณะนี้ทั้งธนาคารกลางจีน สิงคโปร์ และไทยโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการใช้ในธุรกรรมโอนระหว่างธนาคาร ส่วนสกุลเงินดิจิทัลสำหรับประชาชนที่ออกโดย ธปท.( Retail CBDC ) ธปท.ประกาศจะเริ่มในปีหน้า หากสกุลเงินดิจิทัลนี้ออกมา เชื่อว่าจะช่วยในเรื่องการระดมทุนทำให้ต้นทุนต่ำลง และจะส่งผลต่อตลาดการเงิน และตลาดทุน แต่ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อประชาชน เพราะปัจจุบันการทำธุรกรรมทางการเงินของรายย่อยก็ผ่านตัวกลางอยู่แล้ว  ซึ่งก็ขึ้นกับภาครัฐจะมีวิธีกระตุ้นให้เกิดการใช้เงินสกุล Retail CBDC อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าในช่วงแรกภาครัฐอาจต้องทำผ่านมาตรการการ"แจกเงิน"เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ  
 

นายชลเดช กล่าวต่อ ถึงประเด็นเรื่องการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ยังขาดความชัดเจนขณะนี้ คือกำไรจากการเทรดเงินดิจิทัล เสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ถือเป็นการเสียภาษีสุดท้าย ( Final Tax ) เลยหรือไม่ นักลงทุนเวลาได้กำไร ได้ดอกเบี้ย ได้ปันผลจากสินทรัพย์ดิจิทัล จะต้องยื่นเป็นรายได้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วยหรือไม่ ซึ่งหากมีความชัดเจน จะเป็นผลดีเชื่อว่าผู้ประกอบธุรกิจหลายราย คงต่อแถวระดมทุน ( Investment token)

 

อย่างไรก็ดี ต้องขอบคุณ ก.ล.ต.ที่สร้างความชัดเจนว่าการระดมทุน Real Estate-backed ICO ต้องมาอยู่ใน พ.ร.บ.หลักทรัพย์  เช่นเดียวกับการระดมทุนกรณีการออกกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และกองรีท (  REIT: กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ) เพราะมีความคล้ายคลึงกัน  การอยู่ในเกณฑ์เดียวกันจะสร้างเท่าเทียม และในอนาคตอาจเห็นการออกกองรีท ในเวอร์ชั่นใหม่ ๆ ที่เป็น Utility token เช่นซื้อโทเคนที่แบ็คโดยอสังหาริมทรัพย์ หรือคอนโด ฯ เป้นต้น

 

ส่วนประเด็นในเรื่อง stable coin ที่ธุรกิจนำมาลิงค์กับสินค้า ขณะนี้มีธุรกิจที่รับบิตคอยน์หรือคริปโทฯเพื่อใช้ในการชำระซื้อสินค้า ตนเชื่อว่าไม่น่าจะมีผลกระทบ มองเป็นเพียงกิมมิคทางการตลาดมากกว่า เนื่องจากบิตคอยน์เป็นเพียงสินทรัพย์ แต่ยังไม่สามารถแทนค่า"เงินสด" ยังไงก็ต้องนำบิตคอนย์ไปแลกเป็นเงินบาทมาซื้อสินค้า  เพราะต้นทุนของผู้ประกอบการเป็นเงินบาท 


 

นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย ยังกล่าวเตือนนักลงทุน สถานการณ์เก็งกำไรเงินดิจิทัลว่า ปัจจุบันบัญชีสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งระบบ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2564 ตามรายงานของ ก.ล.ต. มีอยู่ 1.77 ล้านบัญชี (จากต้นปี 2563 มี 7 แสนบัญชี ) เทียบกับบัญชีซื้อขายหุ้น ปัจจุบันมีนักลงทุน 2.1 ล้านคน และมีประมาณ 5 ล้านบัญชี 

 

แต่หากเทียบธุรกรรมซื้อขายอย่างน้อยเดือนละครั้ง ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2564 พบว่ามีนักลงทุนเทรดซื้อขายเงินดิจิทัล ประมาณ 6.4 แสนราย ( ครอบคลุมเฉพาะการซื้อขายผ่านศูนย์ซื้อขายเงินดิจทัล ที่ถูกกฏหมายภายใต้การกำกับของ ก.ล.ต.) ขณะที่ตลาดหุ้นมี 7.9 แสนราย อีกทั้งการซื้อขายหุ้น ปัจจุบันยังมีเพดานที่กำหนดราคาหุ้นจะขึ้นไปได้ในแต่ละวัน ขณะที่การเทรดเงินดิจิทัลไม่มีเพดาน