โครงการช้อปดีมีคืน หนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ ปี 2565 ที่เพิ่งผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 นายธนกร วังบัญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลคาดว่ามาตรการช้อปดีมีคืน 2565 จะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 42,000 ล้านบาท ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพีเพิ่มขึ้นประมาณ 0.12% และเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทั่วไปเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ( VAT ) เพิ่มขึ้นอีกด้วย
วัตถุประสงค์โครงการช้อปดีมีคืน 2565
- เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ และสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีและผู้ประกอบกิจการการผลิตสินค้าท้องถิ่น
หลักเกณฑ์เงื่อนไขของผู้ใช้สิทธิช้อปดีมีคืน
- กำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการสำหรับการซื้อสินค้าหรือรับบริการกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
- รวมถึงค่าซื้อหนังสือและค่าบริการหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และค่าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท
โครงการเริ่มเมื่อไร
- โครงการช้อปดีมีคืน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2565
การลงทะเบียน
- ไม่ต้องลงทะเบียน ใช้เพียงใบกำกับภาษีจากร้านค้าหรือผู้ให้บริการ
- ใบเสร็จจากร้านค้า เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน
สินค้าและบริการที่เข้าร่วมเงื่อนไข
- สินค้าและบริการทั่วไปที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
- หนังสือ (รวมถึง e-book)
- สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ( OTOP) ที่ลงทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชน
สินค้าและบริการที่ไม่เข้าเงื่อนไข
- ค่าสุรา เบียร์ ไวน์
- ค่ายาสูบ
- ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
- ค่ารถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
- ค่าหนังสือพิมพ์และนิตยสารและค่าบริการ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
- ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และมัคคุเทศก์
- ค่าที่พักในโรงแรมที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม
- ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า
- ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
- ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์
- ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
ช้อปซื้อ 30,000 บาท มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุดเท่าไร
- เงินได้สุทธิต่อปี 0 -150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี ไม่ได้สิทธิคืนภาษี
- เงินได้สุทธิต่อปี 150,001 - 300,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 5% มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 1,500 บาท
- เงินได้สุทธิต่อปี 300,001 - 500,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 10% มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 3,000 บาท
- เงินได้สุทธิต่อปี 500,001 - 750,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 15% มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 4,500 บาท
- เงินได้สุทธิต่อปี 750,001 - 1,000,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 20% มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 6,000 บาท
- เงินได้สุทธิต่อปี 1,000,001 - 2,000,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 25% มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 7,500 บาท
- เงินได้สุทธิต่อปี 2,000,001 - 5,000,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 30% มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 9,000 บาท
- เงินได้สุทธิต่อปี 5,000,001 บาทขึ้นไป อัตราภาษีเงินได้ 35% มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 10,500 บาท
จากที่กล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่ามาตรการ"ช้อปดีมีคืน" เหมาะสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีเงินได้สุทธิสูงและต้องเสียภาษีในอัตราสูง เพราะสามารถลดหย่อนภาษีและได้สิทธิคืนภาษีได้มากกว่า ทำให้ประหยัดภาษีได้มากขึ้น
ส่วนผู้ที่มีรายได้สุทธิต่ำกว่า 300,000 บาทต่อปี หรือเสียอัตราภาษีต่ำกว่า 10% ควรจะเลือกมาตรการ "คนละครึ่งเฟส 4 " ซึ่งรัฐบาลจะให้ใช้เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายน 2564 คาดว่าจะได้รับรายละ 3,000 บาท จะคุ้มค่ากว่า ( ในกรณีที่รัฐบาลให้เลือกได้เพียงมาตรการใดมาตรการหนึ่ง เหมือนเช่นทุกครั้ง ) ส่วนผู้มีเงินได้สุทธิต่อปี 300,001-500,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 10% สามารถเลือกว่าจะใช้สิทธิมาตรการช้อปดีคืน หรือคนละครึ่งเฟส 4 ก็ได้ เพราะได้รับสิทธิประโยชน์ไม่ได้ต่างกัน
อย่างไรก็ดี คงต้องรอติดตามประกาศจากกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับรายละเอียดของทั้ง 2 โครงการอีกครั้งหนึ่ง