thansettakij
ลงทุนปีเสือ  หุ้นยังดี เลี่ยงตราสารหนี้ทั่วโลก

ลงทุนปีเสือ หุ้นยังดี เลี่ยงตราสารหนี้ทั่วโลก

02 ม.ค. 2565 | 09:34 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ม.ค. 2565 | 16:34 น.

ลงทุนปีเสือ ยังต้องระวัง หุ้นไทยมี UP SIDE แนะลงทุนนอกกระจายความเสี่ยง เลี่ยงตราสารหนี้ทั่วโลก เหตุถูกกดันจากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น แต่เป็นผลดีต่อหุ้นธนาคาร

เปิดศักราชปี 2565 นักษัตร “เสือ” ฐานเศรษฐกิจ สอบถามความเห็นผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนพร้อมคำแนะนำให้ระวัง “เสือ” เพื่อประกอบการตัดสินใจในการจัดพอร์ตหรือจัดสรรเงินลงทุนบนความท้าทาย และโอกาส หลังจากช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้โลกเดินหน้าสู่ภาวะท้าทายในหลายมิติ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า ทิศทางการลงทุนในปี 2565 จะเป็นปีที่หาผลตอบแทนยากลำบาก จากความผันผวนของราคาสินทรัพย์เกือบทุกประเภท

ลงทุนปีเสือ  หุ้นยังดี เลี่ยงตราสารหนี้ทั่วโลก

รวมถึงการดำเนินนโยบายการเงินที่แตกต่างของธนาคารกลางหลักในโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) มีสัญญาณชัดเจนที่จะเริ่มลดวงเงิน QE (QE Tapering) เดือนละ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเดือนมกราคม 2565 ซึ่งจะส่งผลให้วงเงิน QE สิ้นสุดลงในเดือนมีนาคม 2565 และเฟดส่งสัญญาณจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้น 3 ครั้งในปี 2565 แต่สำหรับไทย คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังไม่สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

นายวิริยะชัย จิตตวัฒนรัตน์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์เเละผลิตภัณฑ์การลงทุน Private Wealth Management ธนาคาร กรุงไทยเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าปี 2565 อาจต้องระวัง “เสือ” แม้ที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกจะทยอยฟื้นตัว แต่นโยบายทางการเงินของเฟดที่จะมีการถอน QE และปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อย 3 ครั้ง ดังนั้น อาจจะเห็นสภาพคล่องที่เคยท่วมตลาดมาค่อนข้างนานจะถูกดึงออกไปบางส่วน แต่ เชื่อว่า “หุ้น” ยังเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดี ส่วนตราสารหนี้รัฐบาลอาจถูกกดดันด้านราคา จากการปรับขึ้นดอกเบี้ย

นายวิริยะชัย จิตตวัฒนรัตน์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์เเละผลิตภัณฑ์การลงทุน Private Wealth Management ธนาคาร กรุงไทย นายวิริยะชัย จิตตวัฒนรัตน์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์เเละผลิตภัณฑ์การลงทุน Private Wealth Management ธนาคาร กรุงไทย

ปี 2565 กรุงไทยจึงเน้น “Quality Growth” หรือการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ซึ่งในแง่การลงทุน “หุ้น” ยังเป็นธีมการลงทุนที่ยังให้ผลตอบแทนดี มองว่า ยังมีกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากเฟดปรับนโยบายการเงิน โดยเฉพาะ “กลุ่มธนาคาร” เพราะการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟดจะส่งผลบวกกับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของกลุ่มธนาคารดีขึ้น และการที่เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวทำให้ธนาคารมีรายได้จากวาณิชธนกิจมากขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ จะสนับสนุนหุ้นกลุ่มธนาคาร

ส่วนหุ้นกลุ่มพลังงานทดแทน กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) น่าจะเติบโตได้ในระยะยาว เพราะแต่ละประเทศกลับมาตื่นตัวกับการที่ลดการปล่อยคาร์บอนด์และหันมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มการลดภาวะโลกร้อน

 

เริ่มจาก “หุ้นไทย” นั้น ปัจจัยพื้นฐาน SET Index ดัชนีหุ้นไทยอยู่ในกรอบ 1,700-1,730 จุด คาดการณ์กำไรของบริษัทน่า จะฟื้นตัว 10-12% แต่ยังไม่รวมสมมติฐานการจัดเก็บภาษีในอัตรา 0.1% ของมูลค่าการขายเกิน 1 ล้านบาท ซึ่งระยะสั้นอาจกระทบมูลค่าการซื้อขายหุ้นบ้าง แต่กลุ่มธนาคารและกลุ่มค้าปลีกที่ได้อานิสงค์จากการฟื้นตัวภายในประเทศ โดยเฉพาะ 2 ธนาคารใหญ่ (SCB, KBANK) มีความตื่นตัวในการลงทุนเทคโนโลยีและฟินเทค

 

ขณะที่หุ้นสหรัฐ ยุโรป จีน เวียดนาม ก็ยังดึงดูด โดยมุมมองปี 2565 หลังจากเฟดปรับตัวถอน QE ทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ย การทำกำไรหุ้นกลุ่มนี้จะยากขึ้น เพราะกว่า 10ปีที่ผ่านมา หุ้นสหรัฐปรับตัวบวกขึ้น 500-600% และจะเข้าสู่อีก Cycle  ถัดมาคือ ฝั่งยุโรป แม้จะเห็นผลกระทบจากโควิด โอมิครอนต่อประเทศในยุโรป ไม่ว่าอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน แต่ระยะสั้นจะเป็นโอกาสการซื้อหุ้นขนาดใหญ่ในยุโรป เพราะนโยบายการเงินยังสนับสนุนสภาพคล่องอยู่ จากการที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB)ยังไม่เร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

 

ส่วน “หุ้นจีน” มองว่า โอกาสที่นักลงทุนจะทยอยกลับเข้าซื้อหุ้นจีนในปี 2565 ยังมีสูง เพราะหุ้นจีนราคายังถูก อีกทั้งคาดการณ์เติบโตทางเศรษฐกิจของจีนอยู่ในระดับ 4.0% ซึ่งยังเป็นอัตราเติบโตสูงเมื่อเทียบประเทศอื่น แม้ในปี 2564 จะให้ผลตอบแทนต่ำ น้อยที่สุดเมื่อเทียบตลาดหุ้นทั่วโลก สะท้อนความกังวลต่อการดำเนินนโยบายที่เข้มงวดและมีการจัดระเบียบบริษัทเทคโนโลยีที่ตลาดรับรู้กันไปมากแล้ว

 

สำหรับ “หุ้นเวียดนาม” ยังโดดเด่นในตลาดหุ้นขนาดเล็ก ถือว่า ราคาหุ้นยังไม่แพง เป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตในแง่ของกำไร เห็นได้จากตลาดคาดการณ์อัตรากำไรอยู่ในระดับสูงสุดเฉลี่ย 18-20% 

 

ด้านตราสารหนี้ผลตอบแทนสูง หรือ High Bond Yield ทั้งสหรัฐ ยุโรป และจีนอัตราดอกเบี้ยยังน่าสนใจ อาจจะลงทุนในแง่กระจายความเสี่ยงในพอร์ตการลงทุน แต่ตราสารหนี้รัฐบาลทั่วโลก ยังไม่น่าสนใจ เพราะเทรนด์ดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับเพิ่มขึ้น

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,745  วันที่ 2-6 มกราคม พ.ศ. 2565