อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ "อ่อนค่า" ที่ระดับ 33.26 บาท/ดอลลาร์

06 ม.ค. 2565 | 00:28 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ม.ค. 2565 | 20:24 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทมีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways มองกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.15-33.35 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.26 บาทต่อดอลลาร์ "อ่อนค่า" ลง จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.20 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มที่แกว่งตัว Sideways ในกรอบเดิมต่อ โดยเงินบาทอาจมีแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากการรีบาวด์ขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังตลาดเริ่มมองว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้เร็วกว่าคาด

 

ขณะเดียวกันปัญหาการระบาดของโอมิครอนในประเทศที่ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก็ยังเป็นปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทอยู่ 

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสนใจว่า นักลงทุนต่างชาติยังไม่ได้แสดงท่าทีกังวลสถานการณ์การระบาดมากนัก ดังจะเห็นได้จากการที่นักลงทุนต่างชาติยังเดินหน้าซื้อหุ้นไทยสุทธิต่อเนื่อง อีกทั้งล่าสุด นักลงทุนต่างชาติยังได้เข้าซื้อบอนด์ระยะสั้นสุทธิ กว่า 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งอาจสะท้อนการเริ่มกลับมาเก็งกำไรเงินบาทฝั่งแข็งค่าอีกครั้งของผู้เล่นต่างชาติ 

 นอกจากนี้ เรามองว่า เงินบาทอาจได้แรงหนุนจากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ ซึ่งฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติและโฟลว์ขายทำกำไรทองคำอาจพอช่วยลดแรงกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง ทำให้การเคลื่อนไหวของเงินบาทยังคงมีลักษณะ sideways ในกรอบเดิมต่อ 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.15-33.35 บาท/ดอลลาร์

ในคืนที่ผ่านมา ตลาดการเงินสหรัฐฯ ผันผวนและพลิกกลับมาอยู่ในโหมดปิดรับความเสี่ยง หลังจากที่รายงานการประชุมเฟดล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) ได้ส่งสัญญาณว่า เฟดอาจดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้เร็วกว่าคาด หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้ดีและเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งท่าทีดังกล่าวของเฟดได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มประเมินว่า เฟดมีโอกาสที่จะขึ้นดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนมีนาคมและมีโอกาสที่เฟดจะเดินหน้าลดงบดุลทันทีในปีนี้ โดยไม่ต้องทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานานเหมือนกับในอดีต 

แนวโน้มเฟดใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้เร็วกว่าคาดนั้น ได้กดดันให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะเทขายพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว กดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี ทั่วโลก โดยเฉพาะบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องนั้น ยังได้ส่งผลให้ หุ้นเทคฯ เผชิญแรงเทขายหนัก (หุ้นเทคฯ โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ที่มี valuation แพง มักจะอ่อนไหวต่อการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์) ทำให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดตลาด -3.34% ส่วนดัชนี S&P 500 ก็ปรับตัวลง -1.94% ขณะที่ ดัชนี Dowjones ซึ่งมีสัดส่วนหุ้นเทคฯ ไม่มาก กลับย่อตัวลงราว -1.07% 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป สามารถปรับตัวขึ้นสวนทางกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ เนื่องจากตลาดหุ้นยุโรปมีสัดส่วนหุ้นในกลุ่ม กลุ่ม Cyclical หรือ ธีม Reopening ที่สูงกว่า ทำให้หุ้นในกลุ่ม Cyclical โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มยานยนต์สามารถปรับตัวขึ้นและช่วยพยุงตลาดหุ้นยุโรปไว้ได้ Daimler +4.0%, BMW +2.2%  

 

ในขณะที่ หุ้นกลุ่มเทคฯ ยังคงเผชิญแรงขายเช่นเดียวกับหุ้นเทคฯ สหรัฐฯ ASML -1.5%,  Adyen -0.7% ทั้งนี้ เราคงมองว่า หุ้นยุโรปยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม Reopening เนื่องจากภาพเศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวได้ดี หากสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนเริ่มสงบลง อีกทั้งรัฐบาลฝั่งยุโรปยังมีเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานผ่าน EU Recovery Fund ขณะเดียวกัน นโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็ยังมีความผ่อนคลายมากกว่าธนาคารกลางอื่นๆ โดยเฉพาะ เฟด

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ตีความรายงานการประชุมล่าสุดของเฟดว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยและปรับลดงบดุลได้เร็วกว่าคาด ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นกว่า 6 bps สู่ระดับ 1.70% และเข้าใกล้ระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2021

 

นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี ทั่วโลก ต่างปรับตัวขึ้นเช่นกัน สอดคล้องกับมุมมองของเราที่คาดว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาวอาจปรับตัวสูงขึ้นได้ ตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจและท่าทีของเฟดที่จะใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น  

ในฝั่งตลาดค่าเงิน รายงานการประชุมเฟดล่าสุดที่ส่งสัญญาณว่าเฟดอาจใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้เร็วกว่าคาด ได้หนุนให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าจากที่อ่อนค่าต่อเนื่องในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานการประชุมเฟด ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) รีบาวด์ขึ้นมาใกล้ระดับ 96.17 จุด

 

อนึ่ง การรีบาวด์ขึ้นของเงินดอลลาร์ พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำยังไม่สามารถผ่านแนวต้านสำคัญที่ 1,830 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกลับมาขายทำกำไรราคาทองคำอีกครั้ง กดดันให้ ราคาทองคำย่อตัวลงสู่ระดับ 1,810 ดอลลาร์ต่อออนซ์

 

ทั้งนี้ เรามองว่า ในระยะสั้น ราคาทองคำอาจแกว่งตัว sideways หากตลาดการเงินอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงจากความกังวลนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของเฟด

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยตลาดประเมินว่าภาคการบริการจะสามารถขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการโดย ISM (Services PMIs) ในเดือนธันวาคม ที่ระดับ 67 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว)

 

นอกจากนี้ ตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดเพื่อประเมินมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของเฟด หลังจากที่รายงานการประชุมเฟดล่าสุด ได้ส่งสัญญาณว่า เฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้เร็วกว่าคาด (ตลาดมองมีโอกาสมากกว่า 70% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคม จากที่ตลาดเคยมองว่า เฟดจะคงดอกเบี้ยในการประชุมดังกล่าว)

ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ในช่วงเช้าวันนี้  เงินบาททยอยอ่อนค่ากลับมาเคลื่อนไหวในกรอบประมาณ 33.22-33.31 บาทต่อดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทอ่อนค่าลง หลังจากที่เงินดอลลาร์ฯ ขยับแข็งค่าขึ้นตามทิศทางบอนด์ยีลด์ของสหรัฐฯ

 

หลังรายงานการประชุมเฟดล่าสุด ส่งสัญญาณว่า มีแนวโน้มคุมเข้มนโยบายการเงินมากขึ้น ทั้งในส่วนของการปรับขึ้นดอกเบี้ย และเริ่มบริหารระดับงบดุล ซึ่งอาจสะท้อนว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีการทยอยดึงสภาพคล่องออกจากระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังจบ QE Tapering โดย ณ ตอนนี้ สัญญาอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าสะท้อนความเป็นไปได้ประมาณ 70% ของการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมี.ค.  
  
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่  33.15-33.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนของต่างชาติ สถานการณ์โควิด-19  ดัชนี PMI ภาคบริการของจีนและอังกฤษ ดัชนี ISM ภาคบริการและตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ