นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรอยู่ระหว่างศึกษาการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้น ตามนโยบายของกระทรวงการคลัง หลังจากที่ได้ยกเว้นการจัดเก็บมานาน 30 ปี แต่คงต้องพิจารณาแนวทางการจัดเก็บให้มีความเหมาะสมที่สุด โดยธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยทำการศึกษาแนวทางเพื่อให้มีรูปแบบการจัดเก็บภาษีที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล
ปัจจุบันการจัดเก็บภาษีหุ้นในต่างประเทศมี 2 รูปแบบ คือ 1. เก็บจากส่วนต่างของกำไร (Capital Gain) ซึ่งมีข้อดี แต่การดำเนินการยุ่งยาก เป็นภาระกับผู้เสียภาษีมากกว่า หากกรมสรรพากรดำเนินการรูปแบบนี้จะต้องออกระเบียบและแก้กฎหมายใหม่ และ 2.เก็บจากธุรกรรมการซื้อขายหุ้น ซึ่งกลุ่มประเทศอาเซียนส่วนใหญ่จัดเก็บวิธีการนี้
ยันเก็บภาษีหุ้นเฉพาะขา"ขาย" เริ่มปีนี้
สำหรับแนวทางการจัดเก็บภาษีจากธุรกรรมการซื้อขายหุ้นน่าจะเหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุด โดยในต่างประเทศจัดเก็บทั้ง 2 ขา ทั้งขาขายและขาซื้อ แต่ในส่วนของไทยศึกษาการจัดเก็บจากการขายหุ้นฝั่งเดียวเท่านั้น ซึ่งภาระไม่ได้มาก อัตราจัดเก็บที่ 0.1% เท่ากับหากมีการขายหุ้นมูลค่า 1 ล้านบาท จะเสียภาษีเพียง 1,000 บาทเท่านั้น
"กรมสรรพากรจะเสนอแนวทางการศึกษาทั้งหมดให้ รมว.คลัง พิจารณาในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งการจะเริ่มเก็บภาษีต้องดูสภาพตลาดหุ้นด้วย ต้องยอมรับว่าแม้จะมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ตลาดหุ้นไทยก็มีดัชนีเพิ่มขึ้น และมูลค่าการซื้อขายก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้นมองว่าหากมีการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในปีนี้ ก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบกับตลาดหุ้นไทยมากนัก" อธิบดีกรมสรรพากร กล่าว
พร้อมระบุว่า การเก็บภาษีหุ้นไม่ได้มุ่งหวังเรื่องของรายได้เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษีด้วย เพราะเป็นการเสียในรูปแบบภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งปัจจุบันธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจประกัน การซื้อขายอสังหาริมทรัยพ์ ก็ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะทั้งหมด ไม่ได้รับการยกเว้นแต่อย่างใด ซึ่งภาษีหุ้นก็อยู่ในหมวดธุรกิจเฉพาะที่จะต้องเสียภาษีในอัตรา 0.1% เพียงแต่ที่ผ่านมาได้รับการยกเว้นมานานถึง 30 ปี
FETCO ถกบอร์ดสัปดาห์หน้า
ขณะที่นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า สัปดาห์หน้าคณะกรรมการ FETCO จะมีการประชุมหารือเกี่ยวกับมาตรการการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (Financial Transaction tax) เพื่อหาข้อสรุปในการทำหนังสือในนาม FETCO ไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อชี้แจงมุมมองให้รับทราบ
ทั้งนี้ เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว และส่วนตัวก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน เนื่องจากช่วงเวลาเก็บภาษีจากการขายหุ้นยังไม่เหมาะสม แม้จะเห็นใจรัฐบาลที่ขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง แต่หากมองมาตรการดังกล่าวในระยะยาวอาจกระทบต่อสภาพคล่องของตลาดทุน ซึ่งเป็นจุดขายหลักของตลาดหุ้น ซึ่งที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยมีสภาพคล่องโดดเด่นสุดในอาเซียน จึงไม่อยากเห็นการออกมาตรการที่จะส่งกระทบต่อสภาพคล่องและไม่เห็นด้วยที่จะออกมาในปีนี้
หวั่นกระทบสภาพคล่องตลาดหาย 30%
อย่างไรก็ดี หากมีการเก็บภาษีจากการขายหุ้นในปีนี้จริง เบื้องต้นประเมินว่าผลกระทบโดยรวมจะส่งผลให้มูลค่าการซื้อขายตลาดจะหายไปราว 20-30% โดยกลุ่มนักลงทุนที่จะกระทบมากที่สุด คือ กลุ่มนักลงทุนต่างชาติเนื่องจากต้นทุนในการซื้อขายหุ้นปกติก็สูงกว่า 1 เท่าตัวของนักลงทุนในประเทศอยู่แล้ว
"หากมีการจัดเก็บภาษีจะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น นักลงทุนต่างชาติอาจเลือกไปเทรดในตลาดอื่นที่มีต้นทุนต่ำกว่า ซึ่งจะทำให้ยอดเทรดลดลงจากปัจจุบันที่มีสัดส่วนกว่า 40% ของปริมาณการซื้อขายรวม และกลุ่มถัดไปที่จะโดนผลกระทบคือกลุ่มเทรดเดอร์และ Prop Trade " นายไพบูลย์ กล่าว
ด้านนายวัชระ แก้วสว่าง หรือ เสี่ยป๋อง นักลงทุนรายใหญ่ กล่าวว่าเบื้องต้นประเมินการเก็บภาษีจากธุรกรรมซื้อขายหุ้น จะส่งผลกระทบต่อวอลุ่มซื้อขายหลักทรัพย์แน่นอน เพราะไม่ต่างกับการถูกเรียกเก็บค่านายหน้าซื้อขาย (ค่าคอมมิชชั่น) เพิ่ม นอกจากนี้การเก็บภาษีขายหุ้นคาดว่าจะกระทบต่อการซื้อขายของหุ่นยนต์ (โรบอทเทรด) ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนราว 30% ของปริมาณการซื้อขายหุ้นทั้งหมด โดยคาดว่าวอลุ่มของกลุ่มนี้จะลดน้อยลง หรือหายไปชั่วขณะ เพราะต้องปรับระบบ หรือปรับสูตรใหม่ ภายหลังต้นทุนการขายต่อครั้งเพิ่มขึ้น
แต่หากมองในมุมบวก การเก็บภาษีขายหุ้นอาจส่งผลดีต่อนักลงทุนที่ถือหุ้นยาว เพราะที่ผ่านมาต้นทุนค่าคอมมิชชั่นถูก ส่งผลให้นักลงทุนในตลาดสามารถซื้อขายหุ้นระยะสั้นได้ แต่หากเก็บภาษีขายหุ้น คาดว่าการเก็บกำไรอาจลดลง เพราะนักลงทุนอาจหันมาถือยาวเพื่อเก็บกำไรยาวขึ้น