ธปท.ยึดกรอบการดำเนินนโยบายการเงิน 3 ด้าน หนุนเศรษฐกิจฟื้นตัว-เงินเฟ้อ-เสถียรภาพระบบการเงิน พร้อมใช้เครื่องมือหากเงินเฟ้อหลุดกรอบ 1-3%มองเป็นปัจจัยชั่วคราวจากราคาน้ำมัน- Supply Disruption คาดครึ่งหลังคลี่คลาย -ลดการประชุมบอร์ดกนง.เหลือ 6 ครั้งต่อปี หวังช่วยให้ตลาดการเงินคาดการณ์ทิศทางนโยบายได้ชัดเจนขึ้น
งานประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 10มกราคม 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) โดยนายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า ธปท. ยังคงยึดกรอบเป้าหมาย 3ด้านภายใต้การดำเนินนโยบายการเงินที่แตกต่างกัน ได้แก่ 1.การเติบโตเศรษฐกิจ ในแง่เศรษฐกิจยังเป็นประเด็นสำคัญ โดยนโยบายยังคงหนุนเศรษฐกิจฟื้นตัวไม่สะดุด แม้ว่าจะมีความเสี่ยงด้านการระบาดของโอมิครอนที่ยังจับตาใกล้ชิด
2.อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางที่ปรับจาก 1.4% เป็น 1.7% เป็นการปรับเพิ่มขึ้นชั่วคราวจากราคาพลังงานเป็นหลัก แต่หากดูการคาดการณ์ในระยะข้างหน้ายังอยู่ในกรอบเฉลี่ย 1.8-1.9% อย่างไรก็ดี กนง.ยังคงติดตามใกล้ชิด ทั้งเรื่อง Supply disruption หรือช็อกที่เกิดจากการประชุม เป็นต้น
3.ด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ธปท.ยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องหนี้ครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจ ซึ่งอยู่ในระดับสูงอาจจะฉุดรั้งการเติบโตเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า แต่ทางธปท.พยายามออกมาตรการต่าง เช่น การเพิ่มแรงจูงใจในการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว หรือมาตรการรวมหนี้ (Debt Consolidation) และธปท.สามารถปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อดูแลเศรษฐกิจและให้น้ำหนักกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายการเงินนั้น สะท้อนการผ่อนคลายหลายช่องทาง ซึ่งเงินบาทที่อ่อนค่าจากปัจจัยการระบาดของโอมิครอน หากนักท่องเที่ยวกลับมาได้ภายในไตรมาสสองของปีนี้ เงินบาทอาจจะไม่อ่อนค่า หรือช็อกจากนโยบายการเงินต่างประเทศ
หากดูโครงสร้างเศรษฐกิจไทย เห็นว่าไม่ได้ผันผวนเหมือนประเทศในตลาดเกิดใหม่( EM) ด้วยกัน เพราะเงินทุนเคลื่อนย้ายของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในพันธบัตร(bonds) มีสัดส่วน 9% ซึ่งต่ำกว่ามาเลเซีย และ อินโดนีเซีย หรือการหุ้นถือ 25% ก็ต่ำกว่ามาเลเซีย กับเกาหลี
กรณีตลาดพัฒนาแล้วปรับดอกเบี้ยขึ้นอาจจะกระทบผ่านผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) ปรับสูงขึ้น อาจจะกระทบเศรษฐกิจไทยจำกัด เพราะต้นทุนการระดมทุนของภาคเอกชนมีจำกัด โดยประมาณ 90% จะระดมทุนผ่านธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะภาคธุนกิจเอสเอ็มอีและครัวเรือน และอีกราว 10% เป็นการระดมทุนผ่านหุ้นกู้เอกชน ดังนั้น กรณีที่ต่างประเทศมีการปรับนโยบายการเงิน โดยการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย อาจไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้กนง.ต้องปรับนโยบายการเงินโดยการขึ้นดอกเบี้ยตาม
ย้ำเงินเฟ้อสูงเป็นปัจจัยชั่วคราว
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.กล่าวว่า ด้านอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าประมาณการนั้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นชั่วคราวในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ แต่ยังในกรอบเป้าหมายตลอดช่วงประมาณการอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมายไม่เกิน 3%
ทั้งนี้ ธปท.ได้ปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อในปี 2564 จากเดิมอยู่ที่ 1% เป็น 1.2% และปี 2565 จาก 1.4% เป็น 1.7% และปี 2566 อยู่ที่ 1.4% สาเหตุการปรับประมาณอัตราเงินเฟ้อขึ้นมาจากปัจจัยด้านอุปทานชะงัก หรือ Supply Disruption และราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าไฟฟ้าเป็นสำคัญ โดยประเมินว่าราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นชั่วคราว และจะทยอยลดลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ขณะที่กรอบประมาณการราคาน้ำมันดิบในปีนี้จะอยู่ที่ 68.3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล(เดิมคาด 65.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล) และในปี 2566 อยู่ที่ 69.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับขึ้นเล็กน้อย ซึ่งมาจากเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทำให้แรงกดดันด้านอุปสงค์ไม่มากนัก โดยปีนี้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ 0.4% (จาก 0.3%) ซึ่งปรับตามการขึ้นภาษีสรรพสามิต ยาสูบ และการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการ และในปี 2566 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.7% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ปัจจุบันจากการสำรวจ พบว่าการส่งผ่านต้นทุนในวงกว้างยังทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากอุปสงค์ยังคงฟื้นตัวช้า โดยพบว่า 55% ยังไม่ปรับเพิ่มราคาในอีก 3 เดือนข้างหน้า และมีประมาณ 34% ปรับเพิ่มขึ้นไม่เกิน 20% แต่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะ 1 ปี และ 5 ปีข้างหน้ายังคงอยู่ในกรอบเป้าหมายไม่เกิน 3%โดยแนวโน้มจะทยอยปรับลดลงในระยะต่อไป
“ปัจจัยที่มีผลกระทบยังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะเรามองว่าราคาพลังงานจะปรับลดลงในครึ่งหลังของปีนี้ แต่ต้องติดตามการส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคที่อาจมากกว่าที่ประเมินไว้ และปัญหา Supply disruption ที่อาจยืดเยื้อได้ จึงทำให้เงินเฟ้ออยู่ในด้านขาเสี่ยงเพิ่มขึ้นได้”
นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า ภายใต้แรงส่งด้านนักท่องเที่ยวน้อยลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเร่งขึ้น แต่ไม่ได้เป็นผลมาจากเศรษฐกิจร้อนแรง จึงเป็นความยากโดยธปท.ให้น้ำหนักดูแลเศรษฐกิจ แต่ก็คงไม่ได้นิ่งนอนใจยังคงติดตามใกล้ชิด
ในทางทฤษฎี หากเงินเฟ้อขึ้นโดยอุปทานราคาพลังงานเริ่มจะทยอยปรับลดลง ซึ่งไม่คุ้มที่จะดึงเศรษฐกิจเพื่อให้เงินเฟ้อลดลง หากจำเป็นจริงๆ การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายคงเป็นเครื่องมือหลัก ในการดูแลให้สามารถยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ให้อยู่ในระดับเหมาะสม หากตราบใดที่เงินเฟ้อยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบ 1-3% เชื่อว่าจะสามารถลดทอนปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นได้บ้าง
ย้ำเงินบาทมีเสถียรภาพ หากผันผวนเร็วและแรง
ส่วนแนวโน้มเงินบาทอ่อนค่าในรอบปี 2564 เนื่องจากมีปัจจัยเรื่องภาวะเศรษฐกิจเจอภาวะช็อกของการเติบโตช้า แต่เงินบาทที่อ่อนค่าถือว่าช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง
ทั้งนี้ อัตราแลกเปลี่ยน เป็นราคาสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีผลต่อทั้งผู้นำเข้าและส่งออก หากการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนเร็วและแรงในระยะสั้น โดยในปีนี้ทิศทางเศรษฐกิจดูดีกว่าปีก่อน โดยพื้นฐานประเทศและเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวต่อเนื่องซึ่งทำให้ค่าเงินมีเสถียรภาพ แต่ธปท.ยังติดตามอย่างใกล้ชิดและพร้อมเข้าไปดูแลหากมีการเปลี่ยนแปลงเร็วและแรงจนสร้างภาระต่อเศรษฐกิจ
กนง.มีมติลดการประชุมเหลือ 6 ครั้งต่อปีหวังช่วยให้ตลาดการเงินคาดการณ์ทิศทางนโยบายได้ชัดเจนขึ้น
นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท.ยังระบุว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดจำนวนครั้งการประชุมกนง.เหลือเพียง 6 ครั้งต่อปี เฉลียทุก 7-10 สัปดาห์ จากเดิม 8 ครั้งต่อปี เฉลี่ยทุก 6-8 สัปดาห์ และยังคงเผยแพร่เอกสารการประชุมกนง. 4 ครั้งต่อปี
สาเหตุ เพราะข้อมูลเศรษฐกิจมหภาคไม่ได้เข้ามาถี่หรือเปลี่ยนแปลงในช่วงสั้นๆ จึงไม่มีนัยต่อการประมาณการเศรษฐกิจมาก ประกอบกับการประชุมกนง.บ่อยครั้งอาจจะสร้างภาระต่อการคาดเดาของตลาดการเงิน หรือสร้างเสียงรบกวนโดยไม่จำเป็น
แต่หากมีเหตุการณ์สำคัญบอร์ดกนง.สามารถเรียกประชุมพิเศษได้ และแนวทางการปรับความถี่ในการประชุมเหลือ6ครั้งต่อปีนั้นก็สอดคล้องกับธนาคารหลายประเทศ
อ่านเอกสารฉบับเต็มเพิ่มเติม...งานประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ครั้งที่ 4/2564