ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย วางกรอบยุทธศาสตร์ระยะ 3 ปี (2565-2567) ภายใต้แนวคิด “เชื่อมโยงตลาดทุน มุ่งสร้างโอกาสใหม่” โดยการดำเนินแผนดังกล่าว จะทำผ่านกลยุทธ์ 3 ด้าน เดินหน้าสร้างตลาดทุนปัจจุบันควบคู่กับโลกอนาคตเชื่อมโยงทุกภาคส่วน พัฒนานวัตกรรมโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมความยั่งยืนด้านการเงินเพื่อคนไทย
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภายใต้กรอบระยะ 3 ปี (ปี 2565-2567) ตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมเปิด“ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย” (Thai Digital Assets Exchange: TDX) เพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ คาดว่าจะเปิดให้บริการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ภายในไตรมาส 3/2565 รวมทั้ง“ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์” (LiVE Exchange) สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ ที่คาดจะเปิดซื้อขายภายในไตรมาส 1/2565 ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนที่มีประสบการณ์ได้ร่วมเป็นเจ้าของ
พร้อมเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกลาง สร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ ตอบรับวิถีใหม่ของผู้ประกอบการในตลาดทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันยังมุ่งเป็นแหล่งระดมทุนของภาคธุรกิจสอดรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงและขยายไปยังอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ เพิ่มโอกาสการลงทุนด้วยผลิตภัณฑ์เชื่อมโยงตลาดทุนโลกเพื่อให้ผู้ลงทุนไทยสามารถลงทุนในต่างประเทศได้ง่ายขึ้นด้วยต้นทุนที่ถูกลง อาทิ ETF DR DW และ Fractional Product ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้ซื้อขายได้ต้นไตรมาส 3 ปีนี้
ด้านสังคม ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งส่งเสริมทักษะทางการเงินของคนไทย เสริมสร้างคุณภาพชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นในชีวิตวิถีใหม่ ขับเคลื่อนความยั่งยืนด้วยการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้าน ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล) ร่วมขยายความรู้ไปสู่สังคมมากขึ้น พร้อมสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจในการดูแลสิ่งแวดล้อม
"เพื่อให้การพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอนาคตมีความยืดหยุ่น สนับสนุนการแข่งขันในโลกการลงทุนยุคดิจิทัล ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ขยายโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างคล่องตัว และเปิดโอกาสให้มีการทำงานร่วมกับพันธมิตรได้อย่างเต็มที่ เชื่อว่าจะสามารถสร้างโลกการลงทุนปัจจุบันควบคู่ไปกับโลกอนาคตได้อย่างไร้รอยต่อ" นายภากร กล่าว
เป้าหมายระดมทุนปี 65 ไม่น้อยกว่าเฉลี่ย 3 ปีก่อนหน้า
ด้านนายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลท. กล่าวว่า เป้าหมายการระดมทุนปี 2565 ไม่น่าน้อยกว่าเฉลี่ย 3 ปีก่อนหน้า โดยปี 2564 มีหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมของหลักทรัพย์ IPO ที่ 4.54 แสนล้านบาท ที่เหลือเป็นการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนเป็นการทั่วไป (PO) ซึ่ง PO และ IPO รวมกันราว 1 ล้านล้านบาท ที่เป็นมาร์เก็ตแคปเพิ่มเติม ในปี 2564 แม้มีโควิดแต่จำนวนหุ้นที่เข้ามาระดมทุน และมาร์เก็ตแคป IPO ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง
"ในปี 2565 เราคาดหวังว่าการระดมทุนจะเท่าเดิมหรือใกล้เคียง จาก 3 ปีก่อนหน้าที่มีการระดมทุนสูงมาก เห็นได้จากบริษัทที่พร้อมยื่นเข้าจดทะเบียน, บริษัทที่ยื่นแล้ว และบริษัทที่อยู่ใน pipeline กว่า 20 บริษัท" นายแมนพงศ์ กล่าว