ธุรกิจจำนำทะเบียนรถเผชิญปัจจัยลบรอบด้าน ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน ขณะที่สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เองจะเข้ามาควบคุมอัตราดอกเบี้ยทั้งรถยนต์เก่าและมอเตอร์ไซด์ไม่เกิน 20% ทำให้หลายแห่งต้องแตกไลน์ธุรกิจเพิ่มเติมเพื่อสร้างรายได้ให้กับบริษัท
นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล นายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ หรือ VTLA และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. เงินติดล้อเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ความยากที่ประมาณการไม่ได้ถึงภาพรวมตลาดจำนำทะเบียนปี 2565 คือ การระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนกับความไม่แน่นอนของจำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งตลาดคาดว่า ต้องใช้เวลาราวปี 2566 กว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาเทียบเท่าก่อนโควิด
อย่างไรก็ตาม สัญญาณช่วงรอยต่อปี 2564 ธุรกิจจำนำทะเบียนทั้งระบบเติบโตกว่า 10% เห็นได้จาก
ผู้ประกอบการหลายรายในท้องถิ่นที่ไม่มีใบอนุญาตยังเติบโตได้ ส่วนหนึ่งมาจากช่วงครึ่งปีแรก ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดปล่อยสินเชื่อ จึงเห็นเทรนด์ลูกค้าเข้ามาใช้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียน ทั้งรายที่ถูกปฎิเสธหรือรายที่ใช้วงเงินสินเชื่อเต็มจากธนาคารและผู้ประกอบการจำนำทะเบียนขยายสาขาเพิ่ม แต่เมืองท่องเที่ยวอาจชะลอตัวบ้าง
ส่วนการปรับลดเพดานดอกเบี้ยปีก่อนอาจส่งผลต่อการทำกำไรบ้าง แต่ผู้ประกอบการหันมาทำธุรกิจประกันเพิ่มเติม ไม่ใช่ทำตลาดเฉพาะสินเชื่ออย่างเดียว โดยในส่วนของบมจ. เงินติดล้อ มีสินเชื่อจำนำทะเบียนเกือบ 60,000 ล้านบาท และมีเบี้ยประกันรับ 5,000 ล้านบาทต่อปี โดยปี 2564 เบี้ยประกันรับน่าจะกว่า 4,000 ล้านบาท ชะลอตัวช่วงล็อกดาวน์บ้าง
นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC กล่าวว่า ธุรกิจจำนำทะเบียนยังมีโอกาสเติบโตในปี 2565 จากความต้องการสินเชื่อที่อยู่ในระดับสูง เพราะการกลับมาระบาดอีกครั้งของโควิด-19 ทำให้ประชาชนดำรงชีพลำบากขึ้น ขณะที่ความจำเป็นในการใช้เงิน เพื่อยังชีพก็มีสูง จึงส่งผลต่อการใช้บริการด้านสินเชื่อจำนำทะเบียนเพิ่ม
ส่วนการเติบโตของ MTC ในปี 2564 คาดว่า จะทำได้ตามเป้า 30% มูลค่า 90,000 ล้านบาท และคาดว่าพอร์ตสินเชื่อจะแตะ 1 แสนล้านบาทในปี 2565 ได้ตามเป้าหมาย ขณะที่สินเชื่อจะเติบโตเท่าปีก่อนที่ 30% อีกทั้งปีนี้จะมีคู่แข่งเพิ่มเข้ามาและธุรกิจนอกตลาดที่จะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดเพิ่ม ดังนั้นแนวโน้มการแข่งขันจะมากขึ้น ซึ่ง MTC จะเน้นขยายสาขา เพื่อรักษาความเป็นผู้นำทางการตลาด โดยให้มีสาขาครอบคลุม 6,300 สาขาสิ้นปีนี้จากปัจจุบันอยู่ที่ 5,800 สาขาแล้ว
ปีนี้จะเปิดบริการ “ซื้อก่อนผ่อนทีหลัง” ภายใต้ (บริษัทลูก) บริษัท เมืองไทย เพย์ เลเทอร์ จำกัด เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้า WFH ซึ่งลูกค้าเก่าสามารถใช้วงเงินกู้ต่อราย 3-5 หมื่นบาท ขึ้นกับประเภทสินค้า ดอกเบี้ยประมาณ 20% ผ่อนชำระตั้งแต่ 6-18 เดือน
“เราตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อ 400 ล้านบาทต่อเดือน คาดว่า สิ้นปีจะมีสินเชื่อเพิ่มเข้ามา 4,800 ล้านบาท ส่วนเป้าสินเชื่อเช่าซื้อจำนวน 6,000 ล้านบาท อัตราเติบโต 30%” นายชูชาติ กล่าว
นายศิวพงศ์ บุญสาลี กรรมการผู้จัดการ บมจ.ศักดิ์สยามลีสซิ่ง (SAK)กล่าวว่า ปี 2565 บริษัทเตรียมเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดคือสินเชื่อโดรน และตั้งเป้าสินเชื่อเติบโตใกล้เคียง 12,000 ล้านบาท เป็น
สินเชื่อจำนำทะเบียน 80% และอีก 13% เป็นสินเชื่อนาโน ขณะที่ปี 2564 สินเชื่อเติบโต 35% มูลค่ายอดคงค้าง 8,700 ล้านบาท
“ปี65 ศักดิ์สยามยังเติบโตได้ดี เห็นได้จากปีที่แล้ว มีลูกค้าใหม่เพิ่มกว่า 60,000 สัญญา กว่า 2,000 ล้านบาทและเปิดสาขาอีก 200 แห่งเพื่อให้สิ้นปีมี 930 สาขา ขณะเดียวกันจะเพิ่มผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ดินและบ้านในไตรมาสที่ 1 ซึ่งน่าจะเพิ่ม 5% จากพอร์ตสินเชื่อ”นายศิวพงศ์กล่าว
สำหรับปีนี้ไฮไลต์อยู่ที่บริษัท ศักดิ์สยาม เมกเกอร์ โดรน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกจะเสนอบริการเกี่ยวกับโดรน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพสร้างอาชีพใหม่กับเกษตร ทั้งจำหน่าย ซ่อมบำรุงโดรน และหากลูกค้าไม่พร้อมด้านการเงินบริษัทจะอำนวยสินเชื่อเฉลี่ย 300,000 บาทต่อลำ ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดของแผนการทำตลาด เบื้องต้นคาดว่าจะทำยอดขายราว 1,000 ลำ
“เราพยายามมองหาบริการ เพื่อสนองควมต้องการ สร้างอาชีพและลดต้นทุนให้กับลูกค้าของพี่น้องเกษตร และโดรนสามารถใช้ทำพืชสวนและพืชไร่ ไตรมาสแรกน่าจะเห็นตัวเลข”นายศิวพงศ์กล่าว
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,748 วันที่ 13 - 15 มกราคม พ.ศ. 2565