ทองคำนิวยอร์กปิดร่วง 5.9 ดอลล์ บอนด์ยีลด์พุ่งกดดันตลาด

14 ม.ค. 2565 | 00:09 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ม.ค. 2565 | 07:43 น.

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพฤหัสบดี (13 ม.ค.) ตลาดถูกกดดันจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ รวมทั้งความกังวลที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 5.9 ดอลลาร์ หรือ 0.32% ปิดที่ 1,821.4 ดอลลาร์/ออนซ์
          

  • สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 4.5 เซนต์ หรือ 0.19% ปิดที่ 23.162 ดอลลาร์/ออนซ์
  • สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 7.9 ดอลลาร์ หรือ 0.81% ปิดที่ 972.2 ดอลลาร์/ออนซ์
  •  สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 25.80 ดอลลาร์ หรือ 1.4% ปิดที่ 1,890 ดอลลาร์/ออนซ์        


 

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นสู่ระดับ 1.732% เมื่อคืนนี้ ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อตลาด เนื่องจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย
         

นอกจากนี้ ตลาดทองคำยังได้รับปัจจัยลบจากการที่เจ้าหน้าที่เฟดหลายคนสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งรวมถึงนางลาเอล เบรนาร์ด หนึ่งในคณะผู้ว่าการเฟด, นายชาร์ลส์ อีแวนส์ ประธานเฟดสาขาชิคาโก, นายแพทริก ฮาร์เกอร์ ประธานเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย และนางแมรี ดาลี ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโก

นางเบรนาร์ดได้กล่าวต่อคณะกรรมาธิการด้านการธนาคารประจำวุฒิสภาสหรัฐเมื่อวานนี้ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.เพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยเฟดมีความพร้อมที่จะดำเนินการดังกล่าวทันทีที่โครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ยุติลง ซึ่งการแสดงความเห็นของนางเบรนาร์ดถือเป็นการส่งสัญญาณถึงความเป็นไปได้ที่ว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 15-16 มี.ค.นี้
         

สำหรับข้อมูลเงินเฟ้อล่าสุดของสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐระบุว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต พุ่งขึ้น 9.7% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ที่มีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในเดือนพ.ย. 2553