อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.23 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่า”ขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.25 บาท/ดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่า เงินบาทมีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways ในกรอบต่อ จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามา โดยปัจจัยด้านแข็งค่ายังคงเป็น การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ ขณะที่ปัญหาการระบาดของโอมิครอนในประเทศที่กดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงเป็นแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าที่มองข้ามไม่ได้
นอกจากนี้ หากเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นจนหลุดระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์นั้น ต้องอาศัยฟันด์โฟลว์จากนักลงทุนต่างชาติพอสมควร ซึ่งเราเริ่มเห็นสัญญาณการทยอยขายทำกำไรการเก็งเงินบาทฝั่งแข็งค่าจากผู้เล่นต่างชาติ โดยในวันก่อนหน้า นักลงทุนต่างชาติเริ่มขายสุทธิบอนด์ระยะสั้นกว่า -6.3 พันล้านบาท ซึ่งอาจสะท้อนมุมมองของนักลงทุนต่างชาติที่ยังไม่รีบเข้ามาเก็งกำไรการแข็งค่าของเงินบาทและพร้อมที่จะขายทำกำไร หากเงินบาทแข็งค่าถึงระดับเป้าราคาที่ต้องการ
นอกจากนี้ หากเงินบาทแข็งค่าใกล้ระดับ 33.10-33.20 บาทต่อดอลลาร์ ก็อาจมีแรงซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้าช่วยพยุงเงินบาทไม่ให้แข็งค่าไปมากได้
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.20-33.35 บาท/ดอลลาร์
ตลาดการเงินเผชิญความผันผวนจากแรงเทขายหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อีกครั้ง หลังถ้อยแถลงของว่าที่รองประธานเฟด Lael Brainard รวมถึงบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดท่านอื่นๆ ต่างส่งสัญญาณว่าเฟดพร้อมที่จะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมและเฟดจะใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ
นอกจากนี้ แรงเทขายหุ้นเทคฯ ยังมาจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่มองว่า ผลประกอบการของหุ้นกลุ่มเทคฯ อาจจะไม่ได้เติบโตโดดเด่นเมื่อเทียบกับหุ้นในกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะ หุ้นในกลุ่ม Cyclical ที่จะได้รับอานิสงส์ของการฟื้นตัวเศรษฐกิจ
ซึ่งภาพดังกล่าวยังคงหนุนให้การเปลี่ยนกลุ่มลงทุนของผู้เล่นในตลาด (Sector & Style Rotation) ยังดำเนินต่อไป ดังจะเห็นได้จากการที่ ดัชนี Dowjones ของสหรัฐฯ ที่มีสัดส่วนหุ้น Cyclical สูง ย่อตัวลงเพียง -0.49% ในขณะที่ดัชนี S&P500 และดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลงกว่า -1.42% และ -2.51% ตามลำดับ
ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ทรงตัวจากระดับปิดวันก่อนหน้า เพราะถึงแม้ว่า ตลาดหุ้นยุโรปจะถูกกดดันจากแรงขายหุ้นกลุ่มเทคฯ นำโดยการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของหุ้นกลุ่มเทคฯ Adyen -6.0%, SAP -1.4%
แต่โดยรวม ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Cyclical อาทิ กลุ่มยานยนต์และกลุ่มการเงิน Daimler +2.7%, BNP Paribas +2.5%, BMW +1.6% ทั้งนี้ เราคงมองว่า การลงทุนในหุ้นยุโรปยังมีความน่าสนใจ จากสัดส่วนหุ้นกลุ่ม Cyclical ที่สูงและมีโอกาสได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการระบาดของโอมิครอนสงบลง
ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่า บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดจะส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ทว่า ภาพดังกล่าวกลับไม่ได้กดดันให้บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเป็นสิ่งที่ผู้เล่นในตลาดรับรู้ไปพอสมควรแล้ว
อย่างไรก็ดี ภาวะตลาดการเงินไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงและอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวกลับหนุนให้ ผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้ามาซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงเล็กน้อย 3bps สู่ระดับ 1.71% สอดคล้องกับมุมมองของเราที่มองว่า ปัจจัยการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเป็นสิ่งที่ตลาดรับรู้ไปพอสมควรแล้ว
ดังนั้น การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์จะเกิดขึ้นได้ หากตลาดกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หรือ เฟดมีการสื่อสารถึงการลดงบดุลที่ชัดเจนมากขึ้น โดยอาจเป็นการลดงบดุลในอัตราที่สูงกว่าในอดีตที่ผ่านมา
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทรงตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) แกว่งตัวใกล้ระดับ 94.79 จุด โดยเรามองว่า เงินดอลลาร์ยังมีแรงกดดันจากแนวโน้มการทยอยฟื้นตัวของประเทศเศรษฐกิจหลัก
โดยเฉพาะฝั่งยุโรป หลังสถานการณ์การระบาดในยุโรปใกล้ถึงจุดเลวร้ายสุด ซึ่งภาพดังกล่าวสะท้อนผ่านการทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) รวมถึง เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาด ทำให้ผู้เล่นบางส่วนเลือกที่จะถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง เงินดอลลาร์
สำหรับวันนี้ ตลาดจะจับตาผลกระทบของการระบาดของโอมิครอนต่อการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยสัญญาณผลกระทบเบื้องต้นอาจสะท้อนผ่าน ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือนธันวาคม ที่อาจหดตัว -0.1%m/m แม้ว่าจะเป็นช่วงเทศกาลที่ปกติแล้วยอดค้าปลีกควรขยายตัวได้ดี
รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (U of Michigan Consumer Sentiment) เดือนมกราคมที่อาจชะลอลงสู่ระดับ 70 จุด นอกจากนี้ ตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่ม Cyclical อาทิ กลุ่มการเงิน Wells Fargo, Citigroup, JP Morgan เป็นต้น
ส่วนในฝั่งเอเชีย เราคาดว่า ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.00% ก่อน จนกว่า BOK จะมั่นใจว่าการระบาดของโอมิครอนจะไม่ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น BOK จะสามารถกลับมาขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ในช่วงปลายไตรมาส 1 หรือ ในไตรมาสที่ 2
ส่วนในฝั่งจีน ยอดการส่งออก (Exports) ในเดือนธันวาคม มีแนวโน้มขยายตัวได้กว่า +20%y/y หนุนโดยความต้องการสินค้าทั่วโลกและระดับราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น (สอดคล้องกับสถานการณ์เงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นหรืออยู่ในระดับสูงในหลายประเทศ)
อย่างไรก็ดีในระยะสั้น ยอดการส่งออกของจีนอาจได้รับผลกระทบจากการระบาดของโอมิครอนบ้าง แต่คาดว่าความต้องการสินค้าจากทั่วโลกจะกลับมาขยายตัวดีขึ้น หลังการระบาดเริ่มสงบลง ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกของจีนยังคงขยายตัวได้ดีและช่วยหนุนให้เศรษฐกิจจีนสามารถฟื้นตัวได้ดีขึ้น
ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทแข็งค่าทดสอบแนว 33.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะกลับมาปรับตัวอยู่ที่ระดับ 33.18 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.15 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวันทำการก่อนหน้าที่ 33.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้น โดยอาจจะมีอานิสงส์ต่อเนื่องจากสัญญาณเงินทุนไหลเข้าในตลาดพันธบัตรไทย
อย่างไรก็ดีอาจต้องติดตามแรงหนุนเงินดอลลาร์ฯ ในระหว่างวันจากการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ หลังข้อมูล PPI สหรัฐฯ ยังคงขยับขึ้น และเจ้าหน้าที่เฟดมีท่าทีสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมี.ค. นี้
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทพรุ่งนี้ คาดไว้ที่ 33.10-33.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนของต่างชาติ สถานการณ์โควิด-19 ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีราคานำเข้า/ส่งออกเดือนธ.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้นสำหรับเดือนม.ค.