ระบบพร้อมเพย์ ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงินรายย่อยที่สำคัญของไทย ที่เริ่มให้บริการตั้งแต่ปี 2559 นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ผลักดันประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นสังคมดิจิทัลอย่างแท้จริง ความนิยมของพร้อมเพย์เกิดจากบริการที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และฟรีค่าธรรมเนียมการโอนที่จูงใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า ประชาชนปรับพฤติกรรมมาทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นมาก
ตัวเลขล่าสุดปลายเดือนธันวาคม 2564 พบว่า ยอดลงทะเบียนการใช้พร้อมเพย์สูงถึง 68 ล้านเลขหมาย มีปริมาณธุรกรรมสูงสุดถึง 42 กว่าล้านรายการต่อวัน
มาตรฐานด้านการชำระเงินของไทยภายใต้ระบบพร้อมเพย์อีกตัวที่ได้รับความนิยมคือ Thai QR code ที่อำนวยความสะดวกในการชำระเงินให้กับประชาชนและร้านค้าเป็นอย่างมาก โดยประชาชนสามารถใช้เพียงแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการทางการเงินบนมือถือสแกน QR code ชำระค่าสินค้าและบริการที่ร้านค้าได้ทันที รองรับวิธีการชำระเงินได้หลากหลาย
ทั้งการชำระเงินจากบัญชีธนาคาร บัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือ e-wallet ตัวเลขล่าสุดพบว่า ปลายเดือนธันวาคม 2564 ไทยมีจุดรับชำระด้วย Thai QR code ทั้ง ณ ร้านค้าและช่องทางออนไลน์สูงถึง 7 ล้านกว่าจุดถือว่าไม่น้อยทีเดียว
ความสำเร็จของบริการชำระเงินด้วย Thai QR code ในประเทศไทย ทำให้มีการประยุกต์ต่อยอดไปสู่บริการชำระเงินด้วย QR code กับต่างประเทศภายใต้โครงการ ASEAN Payment Connectivity ระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารกลางประเทศอื่นๆ อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม เป็นต้น
ประเทศในอาเซียนได้ผลักดันการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินร่วมกัน เพื่อให้บริการชำระเงินระหว่างประเทศในภูมิภาคมีความสะดวก ปลอดภัย ต้นทุนตํ่าลง และส่งผลต่อการลดการใช้เงินสดในระยะต่อไป ทั้งยังเป็นกลไกสำคัญสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยและภูมิภาคให้แข็งแกร่งด้วย
ข้อดีอีกประการคือ การชำระเงินระหว่างประเทศด้วย QR code นับเป็นทางเลือกใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวในการซื้อสินค้าและบริการระหว่างประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวไม่จำเป็นต้องแลกเงินและพกพาเงินสดจำนวนมากเช่นที่ผ่านมา ซึ่งอาจไม่ปลอดภัยและเกิดการสูญ หายได้ รวมทั้งเป็นการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการชำระเงินของนักท่องเที่ยวที่ไม่สามารถเข้าถึงการชำระเงินด้วยบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตได้ด้วย
นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ร้านค้าไทยสามารถเพิ่มโอกาสทางธุรกิจจากการเพิ่มช่องทางในการรับชำระเงินจากลูกค้าชาวต่างชาติ ทั้งยังช่วยลดต้นทุนค่าธรรมเนียมการชำระเงินเมื่อเทียบกับการรับชำระเงินด้วยบัตรอีกด้วย
ปัจจุบันประเทศไทยได้ขยายบริการชำระเงินระหว่างประเทศด้วย QR code ใน 6 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ จึงนับได้ว่าประเทศไทย เป็นผู้นำในการเชื่อมโยงการชำระเงินระหว่างประเทศด้วย QR code เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
การให้บริการชำระเงินระหว่างประเทศด้วย QR code ในช่วงแรกจะมีธนาคารหลักนำร่องในการให้บริการกับแต่ละประเทศ และจะมีธนาคารอื่นๆ ทยอยให้บริการเพิ่มเติมในระยะต่อไป ลูกค้าสามารถสอบถามการให้บริการดังกล่าวจากธนาคารได้
ธปท. ธนาคารกลางประเทศอื่นๆ สมาคมธนาคาร ผู้ให้บริการทางการเงิน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จะยังคงร่วม กันผลักดันและขยายการเชื่อมโยงการชำระเงินระหว่างประเทศด้วย QR code ไปยังประเทศอื่นๆ ทั้งในอาเซียนและนอกอาเซียนต่อไป
รวมทั้งจะต่อยอดไปสู่บริการโอนเงินระหว่างประเทศด้วย เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน เช่น นักท่องเที่ยว ผู้ใช้แรงงาน และภาคธุรกิจ ซึ่งจะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจของภูมิภาคได้อย่างเป็นรูปธรรม