อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ "แข็งค่า"ที่ระดับ  33.22 บาท/ดอลลาร์

17 ม.ค. 2565 | 00:51 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ม.ค. 2565 | 10:27 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทมีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways แนะจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ  กรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.15-33.30 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.22 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 33.24 บาทต่อดอลลาร์ 
 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินยังคงผันผวนจากความกังวลเฟดใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้เร็ว
 

สำหรับสัปดาห์นี้ ติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยผลประกอบการที่ขยายตัวต่อเนื่องและดีกว่าคาดอาจช่วยหนุนให้ตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงได้

 

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

ฝั่งสหรัฐฯ – ตลาดจะให้ความสนใจรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะกลุ่มการเงิน อาทิ Goldman Sachs, Morgan Stanley และ Bank of America โดยผลประกอบการที่ดีกว่าคาดจะยิ่งช่วยหนุนให้ หุ้นกลุ่มการเงินสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น นอกเหนือจากแรงหนุนจากการเปลี่ยนกลุ่มหุ้นลงทุนของบรรดาผู้เล่นในตลาดที่หันมาลงทุน หุ้นกลุ่ม Cyclical และหุ้น Value มากกว่า หุ้น Tech และหุ้น Growth หลังบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องและออกมาดีกว่าคาดจะสามารถช่วยให้ผู้เล่นในตลาดทยอยกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้

 

ฝั่งยุโรป – การระบาดของโอมิครอนในเยอรมันที่เริ่มเข้าใกล้จุดเลวร้ายสุด อาจสร้างความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจ หากสถานการณ์การระบาดเริ่มดีขึ้น ซึ่งอาจสะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ (ZEW Economic Sentiment) ในเดือนมกราคม ที่อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 31 จุด จากระดับ 29.9 ในเดือนก่อนหน้า

ส่วนในฝั่งอังกฤษ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีแนวโน้มใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์หรือเดือนมีนาคม หากเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ การจ้างงาน ทยอยฟื้นตัวดีขึ้น หลังสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนในอังกฤษน่าจะผ่านจุดเลวร้ายสุดไปแล้ว ทั้งนี้ ตลาดประเมินว่า อัตราการว่างงาน (Unemployment) ในเดือนพฤศจิกายน จะลดลงสู่ระดับ 4.1% นอกจากนี้ หากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ยังมีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้นก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยของ BOE ซึ่งตลาดคาดว่า CPI เดือนธันวาคมจะปรับตัวขึ้นแตะ 5.2%

ฝั่งเอเชีย – ตลาดประเมินว่า เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลงชัดเจนในไตรมาสที่ 4 จากปัญหาหนี้ในภาคอสังหาฯ ปัญหาขาดแคลนพลังงาน รวมถึงปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในช่วงปลายปี ทำให้เศรษฐกิจอาจขยายตัวเพียง +3.6%y/y ในไตรมาสที่ 4
 

นอกจากนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือนของจีนจะยิ่งสะท้อนภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน โดยในเดือนธันวาคม ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) จะโต +3.7%y/y ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า เช่นเดียวกันกับ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) และยอดการลงทุนสินทรัพย์ถาวร (Fixed Assets Investment) ที่จะขยายตัวในอัตราชะลอลงเหลือ +3.8%y/y และ +4.8%y/y ทั้งนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะเพิ่มโอกาสการผ่อนคลายนโยบายการเงินหรือการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากทางการจีน ซึ่งตลาดมองว่า ธนาคารกลางจีน (PBOC) จะคงอัตราดอกเบี้ยลูกหนี้ชั้นดี (LPR) ประเภท 1 ปี ไว้ที่ระดับ 3.80% (หลังจากปรับลดลง 5bps ในเดือนธันวาคม)
 

ส่วน LPR ประเภท 5 ปี ยังคงไว้ที่ 4.65% ตามเดิม ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น เรามองว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเพื่อหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ -0.10% และคงเป้าบอนด์ยีลด์ 10 ปี ไว้ที่ระดับ 0.00% ซึ่งต้องจับตาท่าทีของ BOJ ต่อการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ล่าสุด เพราะหาก BOJ กังวลต่อประเด็นดังกล่าว อาจสะท้อนว่า BOJ พร้อมเพิ่มการซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อกดดันให้ยีลด์ย่อตัวลง ซึ่งภาพดังกล่าวอาจส่งผลให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลงได้ นอกเหนือจาก BOJ ที่จะเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อนั้น ตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) รวมถึง ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ต่างก็มีความจำเป็นต้องคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.75% และ 3.50% ตามลำดับไว้ก่อน จนกว่าเศรษฐกิจจะส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น นอกจากนี้ ทั้ง BNM และ BI อาจมองว่าเงินเฟ้อยังไม่ใช่ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขด้วยการทยอยขึ้นดอกเบี้ยแบบธนาคารกลางอื่นๆ 
 

ฝั่งไทย – เรามองว่าการส่งออกของไทยในเดือนธันวาคมอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาการระบาดโอมิครอนทั่วโลกบ้าง แต่ทว่า ยอดการส่งออกจะสามารถขยายตัวกว่า +17%y/y ส่วนยอดการนำเข้าอาจโตได้ราว +20%y/y ทำให้ดุลการค้า (Trade Balance) อาจเกินดุลเล็กน้อย +550 ล้านดอลลาร์
 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways โดยต้องจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางเงินบาทในช่วงที่เศรษฐกิจเผชิญปัญหาการระบาดของโอมิครอน อนึ่ง ตลาดหุ้นไทยซึ่งมีสัดส่วนหุ้นกลุ่ม Cyclical เป็นส่วนใหญ่ อาจยังได้แรงหนุนอยู่ในช่วงที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติจะไม่ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยรุนแรง
 

ทั้งนี้ หากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1,820-1,830 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นแนวต้านสำคัญ ก็อาจมีผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำ ซึ่งโฟลว์ขายทำกำไรทองคำจะสามารถช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้บ้าง อย่างไรก็ดี แนวรับสำคัญของเงินบาทจะอยู่ในโซน 33.10 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งผู้นำเข้าต่างรอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ ส่วนแนวต้านสำคัญของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 33.40 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งผู้ส่งออกบางส่วนต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์อยู่
 

ส่วนเงินดอลลาร์อาจกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หากตลาดการเงินยังคงผันผวน ซึ่งจะหนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างเลือกที่จะถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) แต่เราคงมองว่า เงินดอลลาร์จะไม่ปรับตัวขึ้นไปมาก เพราะตลาดเริ่มคลายกังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด (เพราะตลาดรับรู้การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดไปแล้วพอสมควร) และตลาดอาจทยอยเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้ ซึ่งจะลดความน่าสนใจของเงินดอลลาร์ลง
 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.00-33.50 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.15-33.30 บาท/ดอลลาร์

 

ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบที่ระดับ 33.25-33.27 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.10 น.) อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาที่ 33.22 บาทต่อดอลลาร์ฯ
 

โดยเงินบาทและสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชียทยอยอ่อนค่าลงสอดคล้องกับทิศทางของเงินหยวน ซึ่งเผชิญแรงกดดันจากสัญญาณผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางจีน นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ ยังคงมีอานิสงส์จากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งตลาดบางส่วนเริ่มประเมินว่า จำนวนการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้อาจมากกว่าที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ 
 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 33.15-33.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนของต่างชาติ สถานการณ์โควิด-19 และข้อมูลเศรษฐกิจจีน