ธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ ของปี 2564 จำนวน 35,599 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.8% จากปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากความสามารถในการทำกำไรจากของธุรกิจที่ดีขึ้นและการตั้งเงินสำรองที่ลดลง ในขณะที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองมีจำนวน 86,795 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.9% จากปีก่อน ซึ่งเป็นผลของการเติบโตที่แข็งแกร่งของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยและการบริหารค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ กำไรสุทธิสำหรับสำหรับไตรมาสสี่ปี 2564 มีจำนวน 7,879 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58.7% จากงวดเดียวกันของปีก่อน
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “ธนาคารได้เติบโตรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ธนาคารผันกลับมามีการเติบโตของกําไรสุทธิอย่างมีนัยสําคัญในปี 2564 ในขณะเดียวกันธนาคารได้ร่วมมือกับลูกค้าภายใต้โครงการช่วยเหลือทางการเงิน ให้ทยอยเข้าร่วมกระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบเบ็ดเสร็จภายใต้กรอบของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้ลูกค้าสามารถอยู่รอดได้ในระยะยาว
นอกจากนี้ ธนาคารยังส่งเสริมการใช้งานผ่านช่องทางดิจิทัลบนแพลตฟอร์มต่างๆ อาทิ แอปพลิเคชัน SCB EASY และแพลตฟอร์มส่งอาหารโรบินฮู้ด ทำให้ธนาคารสามารถขยายฐานผู้ใช้งานดิจิทัลกว่า 20 ล้านคน สำหรับปี 2565 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงมีความไม่แน่นอน ธนาคารยังคงยึดมั่นในการเติบโตธุรกิจด้วยความรอบคอบและมั่นคง และให้การช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบและทุกภาคส่วนของสังคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ก้าวผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้ด้วยกัน”
ในปี 2564 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 95,171 ล้านบาท ลดลง 1.8% จากปีก่อน สาเหตุหลักมาจากอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิลดลงภายใต้สภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำในปัจจุบันและการมุ่งเน้นการเติบโตของสินเชื่อที่มีคุณภาพ
รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 55,171 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.3% จากปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลของการรับรู้กำไรตามราคาตลาดในปัจจุบันของพอร์ตการลงทุนของธนาคารและบริษัทในเครือ และการขยายฐานรายได้ที่แข็งแกร่งของธุรกิจการบริหารความมั่งคั่งและธุรกิจการขายผลิตภัณฑ์ประกันผ่านธนาคาร
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมีจำนวน 63,547 ล้านบาท ลดลง 1.2% จากปีก่อน เป็นผลจากการที่ธนาคารสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของธนาคารในปี 2564 ปรับตัวดีขึ้นเป็น 42.3%
ในปี 2564 ธนาคารได้ตั้งสำรองจำนวน 42,024 ล้านบาท ลดลง 9.9% จากปีก่อน ภายหลังที่ธนาคารได้ตั้งสำรองในระดับสูงกว่าสภาวะปกติในปีก่อน
อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่ 3.79% เพิ่มขึ้นจาก 3.68% ในปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลของการจัดชั้นลูกหนี้เชิงคุณภาพในกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารยังอยู่ในระดับสูงที่ 139.4% และเงินกองทุนตามกฎหมายของธนาคารยังอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.7%